เป็นปราชญ์ตอนบ่ายสาม

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

เล่ากันว่า ที่ดินใกล้ๆกันนี้ถูกใช้เป็นที่สำหรับเผาศพมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 แน่นอนว่าตัวผู้เล่า ล้วนอาศัยอยู่บนโลกใบนี้มาคนละหกสิบกว่าปีบ้าง เจ็ดสิบกว่าบ้าง และเกินแปดสิบก็มี “ถูกกันไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน” ใครคนหนึ่งเอ่ยชื่อตามสถานะทางกฎหมายซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าเคยเห็นในเอกสารฉบับคัดลอกจากอำเภอ
“ปล้ำมากี่รุ่นคนแล้ว ที่จะทำให้ที่นี่เป็นวัดสักที ..แต่ยังไม่สำเร็จ” ใครอีกคนพูดถึงความพยายามที่จะยกสถานะของสำนักสงฆ์ “หนนี้สำเร็จแน่ ..กรรมาธิการมาเอง เขายืนยันมาแล้วว่าจะช่วยให้สำเร็จ” “ลูกหลานคนบ้านเราเองทำงานในสภาด้วย สนิทกับส.ส. ”
เที่ยงของวันหนึ่ง คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ก็เดินทางมาถึงสำนักสงฆ์ ด้วยรถตู้จำนวน 2 คัน ประชาชนจากพื้นที่ใกล้เคียงวัดซึ่งทราบข่าวนี้มาหลายวัน ได้ตระเตรียมมื้อกลางไว้เลี้ยงชาวคณะ
นอกจากบรรดากรรมาธิการและผู้ติดตามแล้ว ก็ยังมีผู้ว่าฯ นายอำเภอ ปลัดอบต. กำนันฯ ผู้กำกับฯ ที่ดินจังหวัดฯ หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์ป่าฯ เจ้าหน้าที่สำนักพุทธฯซึ่งเป็นสุภาพสตรี และฝ่ายสงฆ์ที่เป็นตัวแทนเจ้าคณะจังหวัดฯ เจ้าคณะตำบลฯ และพระชั้นผู้ใหญ่อีกหลายรูป ทำให้บรรยากาศในศาลาธรรมซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมดูขรึมขลังและน่าอึดอัด โต๊ะประชุมถูกจัดวางเป็นรูปตัวU ยาวๆ มีผ้าคลุมโต๊ะ มีป้ายบอกตำแหน่งบุคคลสำคัญๆ เก้าอี้ถูกจัดอย่างเป็นระเบียบ เว้นระยะห่างพอประมาณ อันเป็นมาตรการป้องกันโควิด มีอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่อนามัยมาคอยตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมบีบเจลแอลกอฮอร์ล้างมือให้ ….รัฐสภาน่าจะเป็นพื้นที่ปลอดโรคที่สุด เพราะเห็นว่าชาวคณะกรรมาธิการไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย
ผู้ทำหนังสือร้องไปยังกรรมาธิการ คือชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอดรนทนไม่ไหวกับความซับซ้อนของปัญหาที่ดินที่ตั้งวัดมานาน ครั้นจะพึ่งสำนักพุทธฯ ก็ดูจะเฉื่อยแฉะเชือนแช!!!
ประธานกรรมาธิการขอให้ที่ประชุมรายงานสถานะทางกฎหมายของที่ดินตั้งวัด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยืนยันว่าได้ตรวจสอบพิกัดแล้ว เป็นที่ดินในเขตป่าตาม พรบ.ป่าไม้ ปี 2484
ผู้นำท้องถิ่นรายงานต่อที่ชุมว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์มีแปลงเดียว และได้ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว “สรุปว่า ที่ตั้งวัดเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ไม่ติดเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ เป็นที่เขตป่าไม้ กฎหมายเปิดช่องให้สามารถขอเข้าใช้ประโยชน์ ได้ ทางสำนักพุทธก็ทำหนังสือขออนุญาตใช้ประโยชน์กับทางป่าไม้จังหวัดนะ” รองประธานฯชี้แจงขั้นตอนการขออนุญาต และเงื่อนไขประกอบ “ดีใจมั้ย!! ถือเป็นความสำเร็จหลังจากรอกันมาสี่สิบปี อีกไม่เกินสามเดือนไปเตรียมเงินแสนสามจ่ายเป็นค่าปลูกป่าชดเชย” รองประธานหันมาพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งเข้ามาร่วมรับฟังการหารือ ชาวบ้านที่มานั่งฟังการประชุมอยู่รอบนอกศาลา หันไปพยักหน้าให้กันในลักษณะพึงพอใจกับผลการประชุม บ้างเริ่มซุบซิบหารือที่จะจัดผ้าป่าระดมหาเงินเป็นค่าปลูกป่าทดแทนตามแนวทางที่รองประธานชี้แนะ

ภาพโดย ฟองเวลา

หลังจากนั่งฟังการประชุมชี้แจงมาตั้งแต่ต้น เขาพยายามประมวลข้อมูลที่ได้รับฟัง เพื่อจะสอบถามข้อสงสัยเพิ่มเติม และเตรียมข้อเสนอที่คิดว่าเป็นประโยชน์ นี่เป็นลักษณะนิสัยเฉพาะของเขาซึ่งเป็นพลเมืองผู้ ‘ว่าไม่นอน และสอนยาก’ ครั้นเมื่อเห็นว่าปัญหาที่ดินซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ได้รับการคลี่คลายชนิดที่เรียกว่า ‘พลิกฝ่ามือ’ เขาจึงเตรียมสอบถามความรู้เรื่องการจ่ายค่าปลูกป่าทดแทน และเตรียมที่จะเสนอเชิงรุกทำนองว่า กิจการพุทธศาสนาไม่ใช่กิจการที่จะสร้างกำไรให้ชาวบ้าน ทั้งหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุน ทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาก็เป็นหน้าที่ของรัฐ หน้าที่ตามรัฐธรรมนูญโดยตรง ทำไมต้องให้ชาวบ้านมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทน ซึ่งตกไร่ละ 10,960 บาท เขายังสงสัยอีกว่า การอนุญาตคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปีนั้น สัมพันธ์กับการคิดคำนวนค่าปลูกป่าทดแทนอย่างไร? คำชี้แจงที่ออกจากปากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอิงกับข้อกฎหมายมาตราต่างๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้านผู้รับฟัง และสามารถนำไปอธิบายขยายต่อได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล นั่นเป็นเจตนาของเขา เขาคิดว่าอย่างไรเสีย ที่ประชุมจะมีเวลาช่วงท้ายที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สอบถามข้อสงสัย หรือข้อเสนอ เพราะนี่คือการประชุมแบบมีส่วนร่วม ก็ในเมื่อกรรมาธิการมาจาก สมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากชาวบ้าน …ย่อมไม่ละเลยหรือลืมที่มาแห่งตนเป็นแน่ การประชุมได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อย ประธานฯเปิดให้แขกสำคัญๆได้พูดสรุปปิดท้าย คนละสั้นๆ เขานั่งกระสับกระส่าย ในที่สุด ประธานก็หันมาสอบถามชาวบ้านว่ามีใครจะมีเรื่องสอบถามมั้ย เขารีบยกมือขึ้นสุดแขน ลุกเดินอ้อมไปกลางโต๊ะรูปตัวยู ตรงนั้นมีไมโครโฟนตั้งอยู่ เขาแนะนำตัวสั้นๆ แล้วขอให้เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงให้ความรู้เรื่องค่าปลูกป่าชดเชย ซึ่งเขามองว่ามันเป็นเหมือนค่าเช่า

ภาพโดย ฟองเวลา

“โยมไม่ต้องสงสัยอะไร พอๆๆ ” ด้วยเห็นว่าใช้เวลากับการประชุมมาสักพักใหญ่แล้ว พระผู้ใหญ่ผู้ทำหน้าที่แทนเจ้าคณะจังหวัด พูดผ่านไมโครโฟนด้วยท่าทีแข็งขัน กึ่งรำคาญผู้ถามซึ่งควรจะเข้าใจข้อชี้แจงของที่ประชุมเช่นผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ “ไปเตรียมเงินไว้แสนสาม เดี๋ยวพอเจ้าหน้าที่เขาดำเนินการเสร็จชาวบ้านมีหน้าที่แค่จ่ายเงินเป็นจบ ..เข้าใจใช่มั้ย” พระรูปเดิมสรุป เขาย่อตัวต่ำอย่างหงอๆ ในใจก็รู้สึกหงุดหงิด ที่พระแปรเจตนาของเขาเป็นอย่างอื่น หรือบางทีเขาอาจไร้ความสามารถในการสื่อสารเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเจตนาก็เป็นได้ ขณะที่อุณหภูมิในร่างกายเขาขึ้นสูง จนรู้สึกร้อนวูบวาบที่ใบหน้า และตามซอกหู “เดี๋ยวๆๆๆ ฟังก่อนอย่าเพิ่งไป ” รองประธานกรรมาธิการซึ่งดูจะมีความรู้ความเข้าใจข้อกฎหมายป่าไม้ดีกว่าใครเพื่อน พูดทักท้วงเมื่อเห็นชาวบ้านช่างสงสัยรายนี้ ทำท่าถอยจะกลับไปยังเก้าอี้นั่งของตน รองประธานฯอธิบายเรื่องเงินค่าปลูกป่าทดแทน แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดตามที่เขาเตรียมคำถามไว้ เพราะข้อสงสัยยังถูกเก็บงำ ด้วยการติดเบรกของพระผู้ใหญ่ …’ พระที่บวชนานๆ มักไม่มีพื้นที่ให้กับความคิดที่แตกต่าง พระส่วนใหญ่ไม่เป็นนักประชาธิไตย’ เขาคิดในใจเงียบๆ ขณะยืนค้อมตัว เอามือกุมเป้า เช่นกันกับขาวบ้านคนอื่นๆ ที่ออกมายืนส่งชาวคณะกรรมาธิการ คณะเจ้าหน้าที่ และคณะพระชั้นผู้ใหญ่
“การพูดดี พูดถูกกาลเทศะ ย่อมทำให้ผู้พูดเป็นปราชญ์ แต่หากพูดไม่รู้จังหวะเวลา จะทำให้ผู้พูดเป็นเปรต” ข้อความประโยคนี้เขาเคยได้ยินเมื่อนานมาแล้ว และตอนนี้มันก็กลับมาดังก้องอยู่หัวของเขา และกลางร่องแผ่นหลังก็มีเม็ดเหงื่อผุดซึม.
[ณ วัด วิถี 6 มกราคม 2564]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *