สัญญาหน้าร้อน

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

เมื่อไล่อ่านเงื่อนไขในสัญญาฉบับนั้นทีละบรรทัด จนมาถึงข้อที่ 7 ก็ทำให้ตัวตนภายในพุ่งพล่านไปด้วยมโนนึก!! ข้อที่ 7 ผู้ปกครองให้สัญญาว่า จะสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษา และเข้าร่วมกิจกรรมที่สถานศึกษาแจ้งให้ทราบด้วยความเต็มใจ “พ่อ!! เขียนเสร็จยัง?” ลูกสาวผู้กำลังเป็นว่าที่นักศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพแห่งนี้ ซึ่งนั่งเก้าอี้ติดกันหันมาเร่ง ” ข้อสาม ผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษาได้อ่านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างต่างซึ่งแนบท้ายสัญญานี้เข้าใจโดยตลอดแล้ว..” ฉันย้อนกลับไปอ่านข้อความหัวข้อที่สามบนแผ่นกระดาษขนาด เอ.4 ซึ่งทางวิทยาลัยแจกให้กับนักเรียนใหม่ที่เข้ามารายงานตัววันนี้ ซึ่งคะเนด้วยสายตาแล้วคาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50 คน เป็นคำตอบหลังจากถูกลูกสาวพูดกระตุ้น “นี่ ข้อนี้เค้าเขียนมัดไว้เลย” ฉันอ่านอีกหัวข้อให้ลูกสาวฟัง “ข้อสี่ ผู้ปกครองจะควบคุมดูแลไม่ให้นักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมชุมนุมประท้วง หรือเรียกร้องใดใด ในการบริหารสถานศึกษา..” “ฮาย!! พ่อ เดี๋ยวสักพักพวกลูกก็จะแหกกฎเองแหละ!!” ‘เป็นสัญญาที่ถูกกำหนดแต่ฝ่ายเดียว ไม่เปิดให้คู่สัญญาได้ต่อรองใดๆ และภาษาที่ใช้ก็สามารถตีความได้กว้าง เดี๋ยวพอถึงวันประชุมผู้ปกครอง จะตั้งคำถามกับเนื้อหาในสัญญานี้ …และจะชวนทางวิทยาลัยทำสัญญาอีกฉบับ สัญญาที่ว่าทางวิทยาลัยจะสอนและสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาอย่างเต็มความสามารถ ข้าราชการครูจะให้เวลาอย่างเต็มที่ต่อสิ่งนี้ และวิทยาลัยจะใหคำมั่นว่านักเรียนที่จบไปแล้ว จะมีคุณภาพและสามารถนำไปประกอบอาชีพได้!!’ ฉันวางแผนในใจ ขณะสายตาเหลือบไปมองอาจารย์ผู้ชายที่ถือไมค์อธิบายรายละเอียดในเอกสารอยู่หน้าเวทีในหอประชุมนั้น นักเรียนใหม่ กับผู้ปกครองต่างก้มหน้าก้มตาเขียนเอกสารอยู่ขยุกขยิก มันเป็นวิทยาลัยการอาชีพที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวอำเภอ “ไม่ต้องสอบเข้า แค่ไม่ติดศูนย์ ติดร.จากโรงเรียยเดิมก็พอ ที่นี่รับหมด จะถูกไล่ ถูกพักการเรียนมาจากที่ไหนก็รับ’ ลูกสาวให้ข้อมูลเมื่อผู้เป็นอาสอบถาม เธอมีผลการเรียนระดับปานกลาง ทีแรกญาติไปอยากให้เรียนต่อม.ปลายในโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนเธออยากเรียนวิชาชีพในวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัด แต่ประเมินจากสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวแล้วก็ไม่น่าจะเหมาะ ทางเลือกที่เหลือแบะเป็นไปได้ที่สุด …แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งมั้ย คือวิทยาลัยแห่งนี้ หลังจากกรอกข้อความในเอกสารสัญญานั่นแล้ว ฉันก็เลี่ยงมานั่งรอในรถซึ่งจอดอยู่ใต้ร่มปาล์มไม่ห่างห้องประชุม มีเสียงเรียกเข้าทางแมสเสจฯ “พ่อ รายได้เดือนละเท่าไหร่?” ลูกโทรมาถามข้อมูล เพราะเธอต้องกรอกตัวเลขเกี่ยวกับอาชีพและรายได้ของผู้ปกครอง ฉันได้บอกให้ลูกลงรายการว่าบิดามีอาชีพรับจ้างทั่วไป ” เท่าไหร่ดี พ่ออยู่วัดอยปรนนิบัติปู่ จะมีรายได้จากไหน” ฉันตอบแบบรำพึง “เอ้า!! ห้าพันก็แล้วกัน …ให้มันสอดคล้องกับอาชีพ เขียนขี้หก ขี้หกไปมั่ง” ตอนเช้าก่อนออกจากวัด พระหลวงพี่ส่งเงินให้ฉัน 2,000 บาท เป็นค่าแรงที่ฉันช่วยงานฉาบปูนผนังศาลาธรรม จ่ายให้ฝ่ายการเงินของวิทยาลัยเป็นค่าลงทะเบียนเรียน 900 กว่าบาท เติมน้ำมันรถ กับจ่ายค่าอาหาร …ก็เป็นอันว่าเงิน 2,000 บาท อันตรธานไปภายในครึ่งวัน แม้จะมีสถานศึกษาระดับวิทยาลัยโอกาส แต่เด็กหลายคนก็ยังไม่อาจเข้าถึง บางคนไม่มีโอกาสแม้แต่การศึกษานอกโรงเรียน เด็กบางคนหลุดจากตะแกรงร่อนที่ชื่อโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น.3 เมษายน 2564

ภาพโดย ฟองเวลา