คนเฒ่าคนแก่ชาวอูรักลาโว้ยหลายคนยังจดจำช่วงเวลาที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาบริเวณเกาะภูเก็ตในระหว่าง
สงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 ได้ โดยในช่วงครามนั้น ชาวอูรักลาโว้ยประสบกับความยากลำบากในการ
ทำมาหากินเพราะมีทั้งทหาร เรือรบและเครื่องบิน บ้างก็ต้องวิ่งหลบหนีระเบิด ทำให้หลายครอบครัวต้องหนี
ไปอาศัยอยู่ที่อื่น บ้างก็หนีไปทำไร่ที่เกาะแก้ว เกาะบอน และคลองตาเนียม บ้างก็อพยพเข้าไปหลบอยู่ในป่า
ดำรงชีวิตด้วยการหาหัวมัน มะพร้าว กล้วย มะกอก มากินเพื่อประทังชีวิต
ชาวมอแกลนผู้หนึ่งมีชื่อที่พ่อแม่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงการเข้ามาของทหารญี่ปุ่น ลุง“มาปุ้น” หรือ“นายญี่ปุ่น
ตันเก” เกิดที่บ้านเหนือ (บ้านหินลูกเดียว) ในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 10 ปีหลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพา
ซึ่งมีทหารญี่ปุ่นเข้ามาในบริเวณจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมากรวมทั้งในบริเวณบ้านเหนือด้วย ทำให้ชาวมอแกลน
ในบริเวณนั้นต่างก็หลบหนีภัยสงครามเช่นกัน พ่อแม่ของลุงเลยตั้งชื่อลุงให้เป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น
ในขณะที่ชาวมอแกลนบ้านบางสักมีคำบอกเล่าว่าในสมัยนั้น ช่วงเวลากลางคืนที่ได้ยินเสียงเครื่องบิน ทุกบ้าน
ต้องรีบดับไฟที่หุงข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารมองเห็นแสงไฟและควันไฟ มิฉะนั้นอาจถูกยิงหรือทิ้งระเบิด
จากเครื่องบิน ส่วนชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงาก็เล่าถึงการหนีภัยสงครามโดยการลงเรือ
ไปหลบตามอ่าวที่มีต้นไม้ใหญ่กำบัง รวมทั้งการที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานสังเกตการณ์บริเวณจุดสูงสุดของ
เกาะสุรินทร์ใต้ในช่วงสงครามเดียวกัน
การอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยด้วยเหตุผลต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อหนีจากภยันตรายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
ของวิถีชีวิตของชาวเล ความรู้เรื่องการเดินเรือและความคุ้นเคยกับภูมิประเทศแถบชายฝั่งทะเล ผนวกกับ
ความสามารถในการดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติส่งผลให้กลุ่มชาวเลสามารถอพยพโยกย้ายและเอาตัวรอด
ได้อย่างคล่องตัวกว่ากลุ่มชนอื่นๆ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันสภาพการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก วิถีที่เคย
เป็นการปรับตัวอย่างดีค่อยๆ ถูกเบียดจนทำให้กลุ่มชาวเลกลายเป็นกลุ่มชายขอบในสังคมไทย
[ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล]