วัฒนธรรมมอแกลนได้รับอิทธิพลจากหลายสายวัฒนธรรม ทั้งมอแกน ไทย และมลายู อัตลักษณ์ของชาวมอแกลนจึงเป็นเรื่องของการผสมผสานจากหลากหลายวัฒนธรรม ตำนานหลายเรื่องของชาวมอแกลนได้ รับอิทธิพลจากเรื่องเล่าของไทย เช่น มีเรื่องของฤาษีที่บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า เรื่องนางสิบสองที่มีนางยักษ์เมรี (มอแกลนเรียกเมลี) ซึ่งชาวมอแกลนผู้เฒ่าหลายคนเชื่อว่ามีนางเมลีอยู่จริง แต่สุดท้ายได้กลายเป็นหิน นอกจาก นิทานที่มีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับของไทยแล้ว ชาวมอแกลนยังมีนิทานหลายเรื่องร่วมหรือคล้ายคลึงกับชาวมอแกน อีกด้วย
วัฒนธรรมในเชิงศิลปะการแสดงอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมอแกลนและคนในท้องถิ่นภาคใต้คือโนรา (โนราห์หรือมโนราห์) มอแกลนในหลายหมู่บ้านได้ซึมซับเอาศิลปะนี้ไว้จนกระทั่ง มีหลายคนที่ “เป็นโนรา” และในบางหมู่บ้านยังจัดการแสดงโนราควบคู่ไปกับพิธีกรรมดั้งเดิมของมอแกลนเอง อาทิเช่น หมู่บ้านมอแกลนที่คึกคักมีการจัดพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ มีเสาวิญญาณ ที่ผูกธงไว้เพื่อเรียกวิญญาณต่าง ๆ เข้ามาร่วมพิธี ส่วนใกล้ ๆ บ้านคนทรงหรือโต๊ะหมอนั้นก็มีการรำโนราในเวลา เดียวกับที่จัดพิธีนั้นด้วย การรำโนราของมอแกลนกับของไทยปักษ์ใต้จะมีลักษณะคล้ายกันแต่รายละเอียด พิธีกรรมจะต่างกัน
ชาวมอแกลนมีอัตลักษณ์ของตนเองที่เป็นความเชื่อ ตำนาน และพิธีกรรมเกี่ยวกับศาลเคารพประจำถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนของวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการหยิบยืมและผสมผสาน กับวัฒนธรรมอื่นๆ โดยรอบ เพลงตันหยงของชาวมอแกลนก็สะท้อนให้เห็นว่ามีการติดต่อสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนกับชุมชนมุสลิมที่มีเพลงตันหยง รูปแบบของเพลงก็คล้ายกัน เนื้อเพลงก็มีส่วนที่เป็นเนื้อหาหลัก ร่วม ๆ กัน และบ้างก็เป็นเนื้อร้องที่คิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ตันหยงเป็นเพลงปฏิพากย์ซึ่งมักจะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่าง หนุ่มสาว จึงมีการโต้ตอบกันโดยใช้ไหวพริบและความเชี่ยวชาญด้านภาษาและการร้องเพลงตันหยงที่ได้รับความนิยมมากเพลงหนึ่งในกลุ่มชาวเลมอแกลนคือเพลงตันหยงดีปลี ดังเนื้อร้องด้านล่าง
หยงเบอตันหยง หยงไหรละน้อง ต้นดีปลี
ต้นดีปลี น้องเข้ามารำในบ้านนี้
ขอสวัสดีไปทุกคน
ทั้งหญิงทั้งชาย ยกมือขึ้นไหว้ไม่ให้ตกหล่น
ขอสวัสดีไปทุกคน
หน้ามนบังหนอในบ้านนี้
หน่อย นอย นอย น้อย ……………นอย…………………..