คน..คุณภาพ

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

ถ้าจำไม่ผิด ช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๘ เป็นช่วงของความวุ่นวาย มันเป็นช่วงของการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิ หลังการระดมสรรพกำลังจากหลายส่วนมาช่วยเยียวยาเบื้องต้น งานสำรวจข้อมูลความเสียหาย และต่อด้วยแผนฟื้นฟูระยะยาว
พื้นที่กลุ่มสมาชิกของเครือข่ายฯตั้งแต่เขตอำเภอเมืองระนอง ไล่ลงไปจนถึงเขตอำเภอคุระบุรีในจังหวัดพังงา รวมถึงโซนพื้นที่เกาะแก่งในจังหวัดระนองด้วย ล้วนได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ ‘สึนามิ’ กันทั่วถ้วน สืบเนื่องจากพี่น้องสมาชิกเครือข่ายฯส่วนนี้เป็นคนมุสลิมเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งมักตั้งชุมชนอยู่ริมฝั่งทะเล และยึดอาชีพประมงเลี้ยงตัว
เพราะมีปัญหาด้านสถานะบุคคลตามกฎหมาย พี่น้องคนไทยและพี่น้องชนเผ่ามอแกน จึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ แม้จากภาคเอกชนก็ไม่ทั่วถ้วนเพราะขาดระบบการจัดการที่ดี และขาดการประสานงานระหว่างองค์กรที่ทำงานทับซ้อนกันในพื้นที่เดียวกัน ในส่วนของเครือข่ายฯเดิมทีเป็นงานจัดระบบกลุ่ม โดยใช้การตรวจสอบข้อมูลในแบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการลงพื้นที่ เพื่อจัดระบบประสานงาน คนและงานยกระดับความเข้าใจด้านข้อกฎหมายสถานะบุคคล ตอนนั้นมีพี่เลี้ยงที่เรียกกันในภาษานักพัฒนาว่า ‘คนทำงาน’ เพียงคนเดียว กับคนอาสาและแกนนำอีกสองสามคนที่คอยช่วยงานกลางของเครือข่ายฯ
เมื่อมีปัญหาเพิ่ม และจำนวนพื้นที่ที่ต้องเข้าทำงานฟื้นฟูก็เพิ่มขึ้นด้วย นั่นเพราะว่า เดิมทีชุมชนคนไทยพลัดถิ่นอีกจำนวนมากยังไม่เข้าร่วมขบวนกับเครือข่ายฯ อาจเพราะบางพื้นที่นั้นฝ่ายรัฐปฏิบัติตามนโยบายพร้อมกับผ่อนปรนบ้างด้านอย่างเข้าใจ!! หรือ บางที่ฝ่ายปกครองควบคุมกดดันจนชาวบ้านไม่กล้ากระดิกตัว และบางที่อีกเช่นกันที่ชุมชนมีลักษณะวัฒนธรรมเฉพาะที่แข็งตัว จนอำนาจภายนอกแทบแทรกเข้าไปไม่ได้ เช่น ชุมชนคนมุสลิมเชื้อสายมลายู …แต่ คลื่นสึนามิได้รับการยกเว้นในเรื่องนี้ มันกวาดทำลายทุกอย่างในรัศมีอย่างไม่เลือกข้าง ไม่เลือกสถานะ แล้วปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายก็ระเบิดขึ้น คนไม่มีสัญชาติไทย คนที่ไม่มีขื่อในระบบทะเบียนของรัฐถูกเขี่ย ถูกและเลยฯลฯ และนั่นเป็นโอกาสที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้เปิดพื้นที่ทำงานด้านกว้างเพิ่มขึ้น
เครือข่ายฯจำเป็นต้องหาคนทำงานเพิ่ม ผู้รับผิดชอบฯ จึงเปิดรับเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยทำงานเพิ่มหลายอัตรา คนแรกที่ได้รับการเสนองานให้ คือคนที่ทำหน้าที่อาสาสมัครอยู่เดิมแล้ว อีกสี่คนเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบมา และสุดท้ายก็คือ ‘พี่พงษ์’ จริงๆยังมีอีกหนึ่งคนที่เข้ามาช่วยงานเป็นเวลาสั้นๆไม่กี่เดือน คือ ‘พี่เล็ก’ เป็นพี่สาวชาวภาคกลาง แต่ดูเหมือนว่าเธอจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชุมชนมุสลิมมลายูได้ “ฮาย พันนี้ต้องจับลอยเล” ‘บังหมาดตีป๋า’ แกนนำรุ่นใหญ่แห่งเกาะสินไห เคยพูดทีเล่นทีจริงกัยพี่เล็ก
….เขาเคยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ เคยเรียนนิติศาสตร์ เคยทำธุรกิจ เคยประสบความสำเร็จ และล้มเหลวในชีวิตมาแล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ล้มเหลวคือ ความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ในฐานะเพื่อนที่ผ่านอะไรมาด้วยกันมากมายกับหัวหน้าโครงการของเครือข่ายฯ เขาจึงเข้ามาในฐานะอาสาสมัครของเครือข่ายฯ ในฐานะคนเคยเรียนนิติฯทำให้พี่พงษ์มีเพื่อนในวงการยุติธรรมหลายคน และได้ใช้ประโยชน์ช่วยคลี่คลายปัญหาให้พี่น้องในเครือข่ายฯได้ในหลายๆ กรณี นอกจากนี้’พี่พงษ์’ยังเป็นคนใจนักเลง มีลายนักเลง มีชั้นเชิง กับคุณสมบัติข้อนี้คยใช้เป็นประโยชน์คราวที่ชุมชนหนึ่งมีปัญหาขัดแย้งกับผู้มีอิทธิพลระดับจังหวัด ‘พี่พงษ์’ใช้ชั้นเชิงในการจัดความสัมพันจนทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง และพวกเราในสำนักงานก็มีปลาทะเลกินบ่อยๆ จากอภินันทนาการของเจ้าพ่อรายนั้น

ภาพโดย สนธยา

‘สนธยา’ หรือ ‘หนึ่ง’ เคยเป็นเยาวชนของเครือข่ายฯตั้งแต่ยุคก่อตั้งแล้วยกระดับขึ้นมาเป็นแกนนำคนรุ่นใหม่ตามการเติบโตของชุดประสบการณ์ ความจริง ‘หนึ่ง’ กับ’พี่พงษ์’ เคยเจอกันตั้งแต่ช่วงที่เครือข่ายฯไปเช่าร้านอาหารเก่า ‘โดมตะวันแดง’ เป็นสำนักงานโครงการฯ แต่ช่วงนั้น ‘พี่พงษ์’ แค่การแวะเวียนมาเยี่ยมเพื่อนฝูง อาจเป็นเรื่องของการ “ต้องชะตากัน” พี่พงษ์จึงมีความรักความเมตตาให้’น้องหนึ่ง’ เป็นพิเศษ เมื่อต้องมาทำหน้าที่ประจำ’พี่พงษ์’ มักมี(สร้าง)คนพิเศษในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่ม ลูกรัก, น้องรัก, ส่วน ‘หนึ่ง สนธยา’ นั้นพี่พงษ์ให้ความพิเศษในฐานะ “คนคุณภาพ” มีอยู่อย่างน้อยหนึ่งครั้งที่’พี่พงษ์’ เคยการันตีว่า “น้องหนึ่งคือคนคุณภาพ” ต่อหน้าทีมผู้ปฏิบัติงานพื้นที่ของเครือข่ายฯ ในวงประชุมนอกรอบหลังสำนักงานบ้านเลขที่ ๒๕ ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง หลังจากทนฟังคำโฆษณามาพักหนึ่ง ‘ตอง เครือวัลย์’ ผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งถึงกับพูดกระแนะกระแหนด้วยว่าตัวเองอาจไม่มีสัมผัสพิเศษหรือไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิดน้องหนึ่งก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องของช่วงปี๒๕๔๘ – ๔๙ ซึ่งต่อจากนั้น สายธารการเปลี่ยนแปลงก็พัดเหวี่ยงแต่ละชีวิตไปตามเส้นทางตน อาจมีพบเจอกันเป็นระยะ ตามแต่โอกาสและเงื่อนไขจะเอื้อ

ภาพโดย ปภพ

มกราคม ๒๕๕๙ หลังจากทราบข่าวว่า’พี่พงษ์’ เป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และอยู่ในระยะอันตรายแล้ว แพทย์ผู้ทำการรักษาแจ้งกับผู้ป่วยว่า ‘หมดหนทางรักษาให้หายขาด’ ได้แต่จ่ายยาและมอร์ฟีนให้ เพื่อผ่านความเจ็บในแต่ละวัน ช่วงนั้น’พี่พงษ์’ ไปพลอยอาศัยอยู่กับเพื่อนซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสที่วัดแห่งหนึ่งแถวชลบุรี ผมกับ’ตะปู’ รับอาสาที่จะนำพา’พี่พงษ์’ มาส่งต่อให้ ‘น้องหนึ่ง’ ซึ่งดิ้นรนติดหล่มอยู่กับการหาเลี้ยงหลายชีวิตในครอบครัวอยู่ที่เกาะแห่งในหนึ่งในอันดามันตอนเหนือ เมื่อทีมน้องๆเสนอให้พี่พงษ์ลงมารับการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ซึ่งคนเป็นหมอนั้นมีศักดิ์เป็นญาติกับ’น้องหนึ่ง’ ด้วย ทั้งนี้น้องหนึ่งรับอาสาที่จะทำหน้าที่พยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยช่วงแรกนั้น’หนุ่มตะปู’ซึ่งพี่พงษ์รักเหมือนลูก เป็นผู้ดูแลปรนนิบัติตั้งแต่ยังอยู่บนฝั่งเป็นเวลาหลายวัน และยังได้ติดตามไปช่วยดูแลที่เกาะด้วย จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ’น้องหนึ่ง’ ในการปรนนิบัติ เตรียมอาหาร เช็ดตัว ทำความสะอาดแผล นวดแข้งขา กระทั่งจัดการเรื่องขี้ เยี่ยว และเป็นลูกมือหมอในกระบวนการรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือก
จริงๆแล้วเหมือน’พี่พงษ์’ จะรู้ตัวเองดีว่าคงไม่รอด เพียงแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่? …เท่านั้นเอง ฉะนั้น ระหว่างเดินทางจากชลบุรีไประนอง จึงใช้เวลาอย่างเฉื่อยแฉะ แวะตามที่ต่างๆ เราแวะพักที่สามร้อยยอดหนึ่งคืน ภายใต้การดูแลของ’โชไอซ์’ และ ‘บังอีลี่’ กินอาหารที่อยากกิน และยังสูบบุหรี่จัดเช่นเดิม ‘หมี่เป็ดเสาแดง’ ตำหรับจากเชียงรายเจ้าเดิมตั้งแต่ครั้งยังทำงานกับเครือข่ายฯ ถูกเรียกมาเสิร์ฟถึงบ้านพักอยู่หลายมื้อ
ถัดจากนั้นอีกหนึ่งเดือนเต็ม ที่’น้องหนึ่ง’ ทำหน้าที่ดูแลปรนนิบัติรักษา’พี่พงษ์’ ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย เช้ามืดของวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๙ เป็นเช้าที่ลมทะเลสงบเป็นช่วงสั้นๆ พี่พงษ์ก็จากไปอย่างสงบเช่นกัน จากไปในอ้อมโอบ’น้องหนึ่ง’ สนธยา นิ่มมโนธรรม
‘น้องหนึ่ง’ พิสูจน์ความเป็น ‘น้องรัก’ เป็น ‘คนคุณภาพของลุงพงษ์’ได้อย่างหมดข้อกังขา.
(วันใหม่ ๓๐ ตุลาคม ปีเดียวกัน)