มิตร(มีส) เมียนมอญ : เพชรผสมหยก

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

นู นู เท็น’ คือชื่อของเธอ ด้วยวัย 26 ปี เธอมีอาชีพเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้านให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด สามีของเธอ ยึดอาชีพขายแรงงานภาคเกษตรในสวนปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอรอบนอก “หนูเป็นคนมอญ” เธออธิบายขยายความ “พ่อเป็นทวาย แม่เป็นมอญลูกจีน”
“เอ๊ะ! อย่างไรล่ะ” ผมขอให้เธอช่วยอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างเผ่าพันธุ์ที่เก่าแก่แห่งภูมิภาคนี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้นำซึ่งเป็นทั้งนักรบผู้เกรียงไกร ผู้เคยกำราบอำนาจอยุธยาลงได้ราบคาบ และเป็นนักรักระบือนาม ‘บุเรงนอง’ แต่ท้ายที่สุดชนชาตินี้ก็มิอาจสถาปนาอำนาจรัฐชาติขึ้นเหนือผืนดินแห่งมาตุภูมิตนได้ กับชนชาติจีนซึ่งแผ่อาณาเขตออกไปกว้างไกลตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกจรดทะเลญี่ปุ่น ด้านตะวันตกกินพื้นที่บางส่วนของเอเชียกลางเข้าไว้ด้วย รวมถึงเกือบครึ่งของเทือกหิมาลัยอันตระหง่าน แต่ดูเหมือนพื้นที่อันไพศาลนั้นไม่อาจรองรับผู้คนจำนวนมากของจีนได้ …จีนซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก คลื่นการอพยพคงมีมานาน และอาจด้วยเหตุผลอื่นนอกเหนือจากเรื่องปากท้อง เรียกว่ามีไชน่าทาวน์อยู่แทบจะทุกมุมของโลก เช่น คงราวๆในยุคล่าอาณานิคมนั่นแหละ ในหนังสือที่ผมอ่าน พบว่ามีร้านค้าคนจีนในเรื่องราวแห่งการแสวงหาสัจธรรมชีวิต ของปอล โกแกง ใน ‘วิถีเถื่อน’ มิใยว่าที่นั่นจะเป็นที่หมู่เกาะในแปซิฟิคใต้อันไกลโพ้น หรือ ร้านค้าคนจีน ในนวนิยายของ จอห์น สไตน์เบ็ก ‘วิมานคนยาก’ ชาวจีนมีส่วนแทรกอยู่ในระบบเศรษฐกิจรากฐานของสังคมอเมริกันมาเนิ่นนาน
นู นู เท็น หรือที่ใช้ชื่อเล่น ‘ตา’ เธอไม่รู้หรอกว่า ‘อาม่า’ของเธอ อพยพมาจากส่วนไหนของแผ่นดินจีน และมากับใคร รู้แค่ว่าเมื่อเป็นสาวก็พบรักกับหนุ่มชนชาติมอญ นั่นก็คือ ‘คุณตา’ หรือ ‘ควั๊วะ’ คำเรียกลำดับญาติในภาษาพม่า จนให้กำเนิดนาง ‘ไซ่” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า ‘เพชร’ อันญมณีที่แข็งแกร่งที่สุด นาง’ไซ่’ จึงเปรียบดั่งเพชรแห่งรัฐมอญนั่นเอง เป็นเพชรผสมหยก จากแผ่นดินใหญ่ของจีน
พ่อของ ‘นู นู เท็น’ ชื่อ ‘โท เท็น เว็น’ เป็นคนทวาย ‘ตา’เล่าว่า คนทวายดั้งเดิม เป็นกลุ่มคนเฉพาะถิ่น มีสำเนียงภาษา วัฒนธรรมและวิถีแบบเฉพาะตัว
นู นู เท็น เกิดที่เมืองเกาะสอง และตามแม่มาอยู่ระนองในฐานะบุตรของแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่เธอเพิ่งจำความได้วันนี้เธอมาเฝ้าสามี หนุ่มชาวพม่าวัย 33 ปี ที่มีอาการปวดช่องท้องรุนแรงหลายวันแล้ว …ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะสามีและตัวเธอต่างเป็นแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของ 2 ประเทศ ทั้งคู่จ่ายเงินประกันสังคมครบถ้วนตามเงื่อนไข และระบบสุขภาพของรัฐไทยก็จะดูแลให้บริการเต็มสิทธิประโยชน์ ผมให้อธิบายระบบส่งต่อของระบบสาธารณสุขไทยให้เธอทราบ เท่าที่ผมจะเข้าใจ และบอกว่า เธอสามารถร้องขอให้โรงพยาบาลจังหวัด ส่งต่อคนป่วยไปยังโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาคได้ ในกรณีที่ดูว่าอาการป่วยจะเกินความสามารถของแพทย์ และเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ ทั้งหมดนั่น มีที่มาจากความตกลงระหว่างสองประเทศ ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ได้รับประโยชน์ตอบแทนในระดับที่พึงพอใจ ……โดยไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณใคร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *