เรื่องโดย ฟองเวลา
“อาตมาบวชที่วัดตะเภาทรุดเมื่อเจ็ดเดือนก่อน คืนหนึ่งขณะอาตมาหลับอยู่ อาตมานิมิตเห็นพระรูปหนึ่ง เห็นใบหน้าไม่ชัด พระรูปนั้นบอกให้อาตมามาปฏิบัติธรรมที่ถ้ำแห่งนี้ อาตมารู้สึกศรัทธาต่อพระรูปนั้นอย่างลึกซึ้ง ออ ..นามนักบวชของอาตมาคือ เวปูละ เป็นนามที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้” โกยา หนุ่มลูกแรงงานพม่า ที่มาเกิดและเติบโตในบ้านพักคนงานในประเทศไทย อธิบายข้อสงสัยของคู่สนทนาอย่างเนิบช้าแต่ชัดถ้อย “เวโปละ หมายถึงภูเขาในประเทศอินเดีย” หลวงพี่ขยายความต่อ “ภูเขาในพุทธประวัติ” ฉันเติมคำอธิบายอย่างเดาสุ่ม ในใจพยายามนึกชื่อภูเขาในพุทธประวัติที่เคยได้ยินมา แต่ก็นึกชื่อที่ใกล้เคียงคำนี้ไม่ออก ได้แต่คิดว่าสถานที่เดียวกัน ชื่อเดียวกันแต่การออกเสียงแบบพม่า กับแบบไทย อาจแตกต่างกันมากจนเกินเทียบเคียง
หลายวันก่อนฉันเคยถวายอาหารเช้าแก่’เวโปละภิกขุ’เมื่อเราบังเอิญพบกัน วันนั้นฉันไม่ได้มองหน้าจึงไม่รู้ว่าเป็นคนเคยรู้จักกัน “อาตมาเป็นพระสายธุดงค์ อยากจำพรรษาในถ้ำ สถานที่เข่นนี้เอื้อต่อการนั่งสมาธิ” หลวงพี่อธิบายต่อ ขณะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งก็เป็นคนคุ้นเคยและรู้จัก’โกยา’มาตั้งแต่แรกเกิดก็ว่าได้ อธิบายว่า ต้องนำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้ใหญ่บ้านในฐานะผู้ปกครองท้องที่ ได้คำตอบแล้วค่อยนำเรื่องไปปรึกษากับเจ้าคณะอำเภออีกชั้น “เป็นระบบปกครองสงฆ์ในประเทศไทย ส่วนเรื่องสถานที่ก็เกี่ยวข้องกับฝ่ายปกครองตามกฎหมายบ้านเมือง เจ้าเข้าใจผมนะ” ผู้ช่วยฯอธิบายต่อพระหนุ่ม
‘โกยา’เกิดจากพ่อแม่ชาวพม่า เกิดในประเทศไทย ไม่มีการแจ้งเกิด ‘โกยา’จึงไม่มีชื่อในสารบบทะเบียนทั้งรัฐไทยและเมียนมาร์ แต่ได้ถือกำเนิดแล้วในพุทธภูมิ ..ธรรมะไร้เส้นพรมแดน!!