Skip to content
- ถ้วยกระเบื้องที่แขวนในบ้านชาวมอแกลนนั้นเป็นอัตลักษณ์พิเศษที่สำคัญสำหรับชาวมอแกลนที่ไม่พบในกลุ่มมอแกนหรืออูรักลาโว้ย ชาวมอแกลนเรียกว่า “ถ้วยตายาย” และเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพบุรุษ ปู่ย่าตายาย พิธีไหว้ “ตายาย (ที่อยู่ใน) ถ้วย” ของชาวมอแกลนจัดเป็นพิธีสำคัญประจำปี จัดขึ้นในเดือนสี่ ทางจันทรคติ โดยในช่วงเวลากลางวันจะจัดพิธีขึ้นบริเวณป่าใกล้หมู่บ้าน มีผู้เฒ่าชาวมอแกลนเป็นผู้ประกอบพิธี
- พิธีเริ่มจากการตั้งเสาไม้ไผ่ 4 เสา ทำคานเล็ก ๆ และเอาแผ่นไม้ปูทำเป็นแคร่ หลังจากนั้นก็เอาใบตองปูลงบนแคร่ จากนั้นมีการตั้งของเซ่นไหว้คือข้าวหลาม 1 กระบอก แกงที่ทำจากเนื้อเต่าบก ไก่ 1 ตัว เหล้า 1 ขวด ขนม หมาก พลู ธูป เทียน เมื่อเตรียมของเซ่นไหว้แล้ว ผู้เฒ่าก็นำถ้วยใบเล็กมาวางด้านล่างแคร่ ฉีกไก่และ นำของต่าง ๆ ที่เตรียมอย่างละนิดหน่อยใส่ในถ้วยนั้น พิธีนี้ถือเป็นพิธีกลางที่ไหว้เจ้าที่และวิญญาณทั่วไป
- ส่วนพิธีที่จัดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนนั้นเป็นพิธีของแต่ละครอบครัว ซี่งพ่อหมอผู้เฒ่าจะทยอยประกอบ
พิธีไปทีละบ้านจนครบทั้งหมู่บ้าน โดยจัดเตรียมข้าวปลาอาหารหวานคาวไว้ เชิญมาเพื่อให้สมาชิกในบ้าน อยู่สบายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มาในระยะหลัง พิธีดังกล่าวลดน้อยลงเพราะแทบจะไม่เหลือพ่อหมอผู้สืบทอด การเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมอีกแล้ว นอกจากนั้น ในช่วงสึนามิ ถ้วยตายายก็ยังสูญหายหรือถูกซัดดแตกกระจาย ไปโดยคลื่น เมื่อขาดถ้วยตายาย ก็เหมือนกับขาดศูนย์รวมจิตใจของสมาชิกในบ้านและพิธีกรรมที่ซ่อนเงื่อนไข ในการรวมตัวกันทำกิจกรรมสำคัญก็สูญหายไปพร้อมกันด้วย
[ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล /ศูนย์มานุษยวิทยาฯ]
Post Views: 16