Skip to content
- ในสมัยก่อน ชาวมอแกนสร้าง เรือขุดเสริมกราบ คือนำไม้ทั้งท่อนมาขุดและเบิกกราบเรือให้กว้าออกแล้วเสริมกราบด้วยไม้ระกำ จึงเรียกเรือนี้ว่า ก่าบางกอมัน (“ก่าบาง” แปลว่า เรือ และ “กอมัน” แปลว่า ไม้ระกำ) ไม้ระกำมีน้ำหนักเบาและลอยน้ำได้ เรือแบบนี้จึงเป็นเรือที่ ไม่มีวันจม คือ ถึงเรือตะแคงหรือล่มลงก็จะจม เพียงปริ่ม ๆ น้ำ คนในเรือสามารถจะวิดน้ำออกให้เรือลอยอีกครั้งได้ ก่าบางกอมัน เป็นเรือที่มีส่วนประกอบต่าง ๆ ที่หลากหลายและต้องใช้วัตถุดิบหลายอย่าง ไม่เหมือนเรือหัวโทงซึ่งส่วนต่าง ๆ ของเรือล้วนทำด้วยไม้ เช่น กระดูกงู กงเรือ และกราบเรือ สำหรับก่าบางกอมันนั้นต้องใช้วัตถุดิบอย่างน้อย 8 ชนิด คือ ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้ระกำ แก่นต้นหมาก ต้นคล้า ใบเตยหนาม หวาย และเถาวัลย์ชนิดเหนียว นั่นหมายถึงว่าชาวมอแกน จะต้องเข้าป่าเพื่อหาวัตถุดิบเหล่านี้เพื่อเตรียมไว้ทำเรือ ดังนั้น การสร้างเรือจึงไม่ใชาแค่การประกอบเรือเท่านั้น แต่หมายถึงการคัดเลือกและเก็บหาวัตถุดิบ ภูมิปัญญาในการเลือกสรรวัตถุดิบที่เหมาะสม รวมทั้งการตระเตรียม วัตถุดิบนี้ด้วย เช่น การสับเฉาะไม้ทำมาดเรือ การเหลาไม้ไผ่ เหลาหวาย การเย็บใบเตยหนามเป็นหลังคา และใบเรือ และการสานฝาขัดแตะข้างเรือ
- เอกลักษณ์ของเรือมอแกนคือมีหยักเว้าหรือ ง่าม ที่หัวและท้ายเรือ คนไทยจึงเรียกเรือนี้ว่า เรือง่าม ง่ามนี้เป็นเหมือนขั้นบันไดให้ชาวมอแกนปีนขึ้นลงเรือได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อว่ายน้ำดำน้ำอยู่ในทะเล ง่ามนี้ สามารถจะตีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ตามตำนานของมอแกน ที่น้องสาวของราชินีซิเปียนถูกสาปให้เป็นเหมือนไม้ “มอ” กลางเรือก่าบางที่จมน้ำ (คำว่า “มอ” นี้มีนักมานุษยวิทยาให้ความเห็นว่าเป็นคำที่กลายมาจากคำภาษามอแกนว่า “ละมอ” ที่แปลว่า “จมน้ำ”) ทำให้เรือเป็นสิ่งสะท้อนคุณลักษณะของมนุษย์ คือ มีปากและมีทวาร คำเรียกส่วนต่าง ๆ ของเรือ ก็มาจากคำเรียกอวัยวะในร่างกายของคน เช่น หละแก้ (ท้อง) ตะบิน (แก้ม) ตู่โก๊ะ (คอ) บ่าฮ้อย (ไหล่) และตะบิ้ง (ซี่โครง) ดังนั้น เรือของชาวมอแกนจึงเปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์คนหนึ่ง
- การสร้างเรือเป็นกระบวนการที่มีมิติความคิด ความรู้ ความเชื่อ พิธีกรรม และความสัมพันธ์ทางสังคมสอดแทรกอยู่ การลงมือทำเรือจึงอาจจะใช้เวลาหลายปี เริ่มตั้งแต่การใช้ความรู้ในการคัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะสม ในการทำเรือ ซึ่งต้องเป็นไม้เนื้อไม่อ่อนไม่แข็งมากเกินไป ลำต้นตรงสูงใหญ่ ชายชาวมอแกนอาจจะหมายตา ต้นไม้ไว้เมื่อแรกเห็นในป่า หลังจากนั้นจึงจะมีพิธีขอไม้จากรุกขเทวดาหรือวิญญาณในธรรมชาติ เพราะ ชาวมอแกนทุกคนต่างมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าต้นไม้ขนาดใหญ่ทุกต้นในผืนป่านั้นต่างมีวิญญาณในธรรมชาติ สิงสถิตอยู่เสมอ ต่อมาก็มีการร่วมมือร่วมแรงของญาติพี่น้องในการล้มไม้ การสับถากไม้เป็นโกลนเรือ การลากโกลนเรือออกมาจากป่าและลงมือเกลาเรือต่อ การเบิกกราบเรือ การเสริมกราบ การทำโครงหลังคา เย็บสานและประกอบรายละเอียดภายในเรือ ฯลฯ
- ความเชื่อและแนวปฏิบัติเหล่านี้หากนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าล้วนเป็นกุศโลบายอันแยบยลของบรรพบุรุษชาวมอแกนที่สอดแทรกอยู่ในวิถีของชนพื้นเมืองให้นอบน้อมต่อธรรมชาติ และเพื่อสอน ลูกหลานที่สร้างเรือก่าบางให้ยึดถือและปฏิบัติตามคำแนะนำที่บรรพบุรุษค้นพบและตระหนักรู้จากสิ่งที่ได้ ลงมือปฏิบัติจริงสืบต่อกันเรื่อยมา หากชาวมอแกนเร่งมือสร้างเรือและมีญาติพี่น้องมาช่วยกันทำ ก็จะใช้เวลา ไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าค่อย ๆ ทำโดยใช้แรงสมาชิกในครอบครัวก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีในการสร้างเรือ
[ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล/ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ]
Post Views: 97