Skip to content
- ประเพณีสำคัญประจำปีของชาวมอแกน คือ พิธี “เหน่เอ็นหล่อโบง” หรือพิธีฉลองเสาวิญญาณบรรพบุรุษจัดขึ้นในเดือนห้าทางจันทรคติ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน ในสมัยก่อนนั้น ชาวมอแกน จะหยุดทำงาน ไม่ออกเรือทำมาหากินเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองในพิธีกรรมสำคัญประจำปี โดยมีชาวมอแกนจากเกาะอื่น ๆ มาร่วมพิธีอย่างคึกคัก บริเวณหน้าชายหาดจะมีเรือก่าบางจอดเป็นทิวแถว พิธีกรรมนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปตลอดทั้งวันและคืนจนเวลาล่วงเลยเข้าสู่วันที่สาม ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในพิธี คือโต๊ะหมอที่ประกอบพิธีและสื่อสารกับวิญญาณในธรรชาติ โต๊ะหมอหรือ ออลาง ปูตี และผู้เข้าร่วมงาน จะร้องเพลง เล่นรำมะนา กลอง และเข้าทรงอยู่บริเวณหน้าศาลบรรพบุรุษ
- พิธีกรรมนี้อาจจะะประกอบไปด้วยการลอยเรือลอยเคราะห์หรือ ก่าบางแหม่ลอย หากมีองค์ประกอบนี้ ออลาง ปูตี และผู้ร่วมงานจะทยอยกันนำเรือลอยเคราะห์ขึ้นเรือก่าบางมุ่งหน้าออกสู่ทะเลด้านนอก และ ออลาง ปูตีจะเป็นผู้ให้สัญญาณในการปล่อยเรือลอยเคราะห์ลงสู่ทะเล เพื่อให้ทะเลพัดพาเอาเรือที่บรรจุความทุกข์โศก โรคภัยของครอบครัวและชุมชนลอยออกไปสู่ทะเลโดยไม่หวนย้อนกลับมาอีก
- พิธี “เหน่เอ็นหล่อโบง” เป็นพิธีสำคัญประจำปีที่สร้างความรู้จักคุ้นเคยให้กับกลุ่มมอแกนจากเกาะต่าง ๆ ก่อนที่จะต้องปรับวิถีชีวิตจากการเดินทางเร่ร่อนทางเรือมาเป็นการตั้งเพิงพักริมชายฝั่งเพราะคลื่นลมเริ่มแรงขึ้น พิธีนี้เป็นช่วงเวลาที่เครือญาติได้มาเจอะเจอกัน ถามข่าวคราวทุกข์สุข คล้ายกับพิธีกรรมในวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่สร้างเงื่อนไขในการรวมญาติ
- จุดสำคัญของพิธีคือการสร้างเสาวิญญาณบรรพบุรุษหรือ “เสาหล่อโบง” ที่เป็นสัญลักษณ์ถึงการมีบรรพบุรุษร่วมกันและความเป็นกลุ่มเดียวกัน งานเริ่มต้นบริเวณลานกลางหมู่บ้าน ซึ่งยังคงมีเสาหล่อโบงที่ผ่านพิธีกรรม เมื่อปีที่แล้วตั้งอยู่ จากนั้น โต๊ะหมอหรือ ออลาง ปูตี จะทำการเข้าทรงติดต่อสื่อสารกับเหล่าวิญญาณใน ธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อให้นำทางขึ้นไปตัดไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวมอแกนจะช่วยกันโค่นและแบกไม้ ลงมาที่หมู่บ้าน จากนั้นชายหนุ่มจะช่วยกันแกะสลักไม้ให้กลายเป็นเสาหล่อโบง จำนวน 3 ต้น แต่ละต้นมีลักษณะ เฉพาะตัวแทนความหมายของปู่และตา ย่าและยาย และลูกหลาน ในขณะที่อีกกลุ่มเริ่มสร้างศาลขนาดเล็ก ที่จะใช้ในงานพิธี งานนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งตอกย้ำถึงความหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม บทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคล
- ผู้หญิงและเด็กในหมู่บ้านจะช่วยกันทำขนม 9 อย่าง เพื่อนำมาเป็นเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีกรรม โดยพิธียังคงดำเนินไปตลอดช่วงบ่าย พร้อมกับเสียงดนตรีที่บรรเลงประกอบไปตลอดช่วงพิธี ซึ่งจะเริ่มมีชาวมอแกน ในหมู่บ้านทยอยมาร่วมงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่ยังคงยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรม ต่างเดินทาง มาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้า และอยู่ร่วมพิธีไปตลอดช่วงเวลากลางคืนจนกระทั่งย่างเข้าสู่เช้าวันใหม
[ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล /ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ]
Post Views: 113