หนมเช็ก

บทความโดย ฟองเวลา

………เมื่อจำความได้แล้ว จำว่านานครั้งทีเดียวที่บ้านเราจะทำขนมกินกันสักที จำพวกข้าวเหนียวกวน ขนมโค ลูกเดือยต้มใส่กะทิ ขนมเปียกปูน ขนมชั้น วนเวียนอยู่ประมาณนี้ แม่จะทำขนมคราวละมาก ๆ เพราะแม่มีลูก ๆ รอกินอยู่เป็นสิบปาก นานครั้งมาก ๆ ที่แม่จะซื้อพวกขนมทอดมาจากตลาด เพราะบ้านเราอยู่ไกลตลาดเกินสิบกิโลเมตร เวลาจะไปตลาด ชาวบ้านในซอยต้องหิ้วตะกร้าเดินออกไปปากซอย เป็นระยะทางกิโลเมตรเศษ เพื่อขึ้นรถสองแถวไม้ ด้วยจำนวนรถสองแถวที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้บริการในวันศุกร์ซึ่งมีตลาดนัดใกล้ตัวอำเภอ ภาพการห้อยโหนท้ายรถ การขึ้นไปอยู่บนหลังคารถทั้งคนและสิ่งของแบบเดียวกับที่เห็นในภาพข่าวจากประเทศอินเดียหรือบังคลาเทศก็เคยมีแล้วในบ้านเรา ก็เป็นที่น่าเห็นใจที่แม่ต้องหิ้วข้าวของพะรุงพะรังลงรถแล้วเดินเข้ามาในซอยตอนขากลับจากตลาด นั่นเป็นเหตุผลที่นานครั้ง แม่ถึงจะซื้อ”หนมเช็ก” ติดมือมาฝากลูก ๆ บ้าง ขนมสำเร็จรูปสมัยก่อนโน้นมีจำนวนน้อย ไม่หลากหลาย(หรืออาจมีหลากหลายแหละ แต่เด็กบ้านป่าอย่างเราไม่เคยเห็น ไม่ค่อยได้สัมผัส) เราเรียกขนมพวกนั้นว่า “หนมเช็ก”ตามพวกผู้ใหญ่ “หนมเช็ก” คงมาจากคำเต็มว่า ‘ขนมเช็ก’ เช็ก’ หรือ ‘คนเช็ก’ คนใต้แถวบ้านเราเรียกคนเชื้อสายจีนว่า ‘เช็ก’ คงเพี้ยนมาจากคำว่า ‘เจ๊ก’ นั่นเอง

ภาพโดย ฟองเวลา

………”หนมเช็ก” ก็คงหมายถึงขนมสำเร็จรูปที่ห่อด้วยบรรจุภัณฑ์และเก็บไว้ได้นานและคงผลิตโดยโรงงานของ’คนเช็ก’!! มีวางขายตามร้านค้าในตลาด และที่ร้าน’ลุงเชื้อ’หน้าโรงเรียนบางหมีพัฒนา ก็มี’หนมเช็ก’ขายอยู่หลายชนิด ปีนั้น ชาวบ้านแบกจอบไปขุดคูริมถนน เอาดินขึ้นมาโปะถมทาง เขาพูดกันว่า โครงการถนนเงินผัน จ้างชาวบ้านจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน พอปี 2520 ผมเข้าเรียนปอ.1 ทั้งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ เขาพูดกันว่ามีกฎหมายเอาผิดพ่อแม่ที่ไม่ส่งลูกไปโรงเรียน ทำให้เราต้องเดินเท้าเปล่ากว่า 3 กิโลฯเพื่อไปเข้าโรงเรียน เราเดินไปตามถนนดินแดงที่ชาวบ้านขุดแต่งโดยเราต้องใช้ทางร่วมกับฝูงควาย เป็นเราที่ต้องหลบทางให้กับฝูงควายยามสวนทางกัน เดินหลบเลี่ยงกองขี้ควายตรงตีนควน ควายมันจะขี้จำที่ ยามฝนตกขี้ควายก็ไหลเละเทะเต็มทาง เราได้ยินเรื่องความโหดร้ายของคอมมิวนิสต์จากปากครู “พวกคอมจับคนไปตัดหัวทำสะพานข้ามแม่น้ำโขง” ครูว่า และเราใช้เงินค่าขนมกลางวัน 50 สตางค์ ซื้อ”หนมเช็ก” รูปใบไม้ได้ 1 อัน กินหลังจากกินข้าวกลางวันที่คดไปจากบ้านอิ่มแล้ว พอโตจนจะแก่แล้วถึงรู้ว่า ปี 2518 ประเทศไทยมีนายกชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ผู้ได้รับฉายา ‘นายกเงินผัน’ ยุคนั้นก็มีภัยคุกคามที่ทางการเรียกว่า ‘ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์’ และการโฆษณาชวนเชื่อนั้น ฝ่ายรัฐบาลทำได้ดีกว่าฝ่ายทหารป่า พร้อมกับที่ ‘หนมเช็ก’ ในรูปแบบหลากหลาย กระจายอยู่ในทุกบ้าน ในตู้เย็น และร้านสะดวกซื้อตามหัวมุมชุมชนที่เปิด 24 ชั่วโมง …หลายวันก่อน ในประเพณี’ส่งตายาย'(ชิงเปรต ของใต้ล่าง) ผมได้ขนมมาหนึ่งชิ้น เป็น “หนมเช็ก” ซึ่งหายไปจากการรับรู้หลายสิบปีแล้ว ลูกหลานของบางวิญญาณคงพยายามเสาะหามาให้ตายายได้กินก่อนกลับไปสู่อีกโลกที่จากมา ‘หนมเช็กรูปใบไม้’ รสชาติจำไม่ได้แล้ว แต่ที่เปลี่ยนไปคือ เคี้ยวแล้วติดตามซอกฟันที่ห่างและโยกคลอนหลายซี่.