แมงดาคุ้มหัวพรานเบ็ดเฒ่า

บทความโดย ฟองเวลา

………’เฒ่ายก’บอกว่าได้สามตัวแล้ว …แต่เป็น’ปลามัดเบ็ด’ เมื่อฉันเอาเรือเข้าเทียบแคมเรือลำผุของแก “วันนี้กี่ค่ำแล้ว” เฒ่ายกถามกลับเสียงดังสวนทางลมทะเลที่พัดหวีดหวิว “แปดค่ำ .. วันพระแล้ว นั้นแล้ถึงไม่ได้ปลา ได้แต่ปลาเชาะเบ็ด*สามตัว” ฉันแซวกลับด้วยเสียงดังกว่า เพราะรู้ว่าชายชราวัยแปดสิบเศษคนนี้’หูตึง’ เฒ่ายกวัย 80 ปีเศษ พาครอบครัวย้ายมาจากชุมชนใกล้เทศบาลเมื่อเจ้าของที่เดิมไม่ต่อสัญญาเช่าที่รายปีให้ แกมาซื้อที่ดินแบ่งขาย ซึ่งเดิมนั้นก็เป็นที่ดินสวนจากติดลำคลองน้ำกร่อย เจ้าของได้ดำเนินการถม ตัดแบ่งเป็นล๊อคๆ เฒ่ายกปลูกบ้านหลังกระทัดรัดพอได้คุ้มแดดฝน ก็ด้วยเงินเก็บจากอาชีพรับจ้างลอกใบจากของคนในครอบครัว นอกจากแกแล้วก็มีเพื่อนบ้านอีกหลายรายที่ย้ายมาจากที่เดียวกัน ที่นี่จึงมีสภาพเป็นชุมชนใหม่ แม้จะไม่มีเอกสารสิทธิ์เพราะเป็นรอยต่อทับซ้อนกันระหว่างที่สาธารณประโยชน์กับที่ป่าชายเลน แต่มันก็อุ่นใจกว่าที่อยู่เดิมซึ่งแทบขยับขยายอะไรไม่ได้เลย เมื่อมีเฉพาะที่ดินปลูกบ้าน คนทั้งชุมชนจึงต้องทำงานรับจ้าง รวมทั้งอาชีพเสริมคือการออกหาปูหาปลาชุมชน ด้วยอยู่ติดลำคลองสายเล็กในป่าชายเลน และเกือบทั้งชุมชนก็สืบสายเลือดมาจาก’คนไทยบกเปี้ยน’ ชุมชนคนไทยที่ตกค้างอยู่ในดินแดนพม่าตอนใต้ หลายคนจึงมีต้นทุนภูมิปัญญาการหาอยู่หากินตามวิถีเดิมตกทอดมา ช่วง’น้ำตาย’** คนที่สัญจรผ่านทางคลองพระขยางค์จะพบเรือเก่ากับเจ้าของชราพายเรืออย่างเนิบช้าเพื่อหาจุดเหมาะๆหย่อนสมอลงน้ำแล้วนั่งตกปลาอย่างไม่ร้อนรน ฝนมรสุมตกกระหน่ำมาสามสี่วันทำให้น้ำในลำคลองเปลี่ยนเป็นสีโคลน ‘ฒ่ายก’ลอยเรืออย่างเงียบเชียบอยู่ตรงคุ้งน้ำ ตรงตำแหน่งนี้แกเคยตกได้ปลาดุกทะเลอยู่บ่อยๆ แกนั่งก้มหน้าปากเผลอนิดๆขณะใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการผูกสายเอ็นเข้ากับตาเบ็ด “ทำเป็นสายสำรอง แรกเดี๋ยวกูโขกซัดไปกับปลาเชาะเบ็ดเสียตาหนึ่งแล้ว..ดายของหลาว”แกว่า ฉันรับกระปุกยาสูบมามวนและจุดสูบ แกทำอย่างเดียวกันเมื่อรับกระปุกกลับไป ขณะนั่งละเลียดควันยาเส้นใยจาก พ่นปล่อยควันยาสีขาวนวลให้ลอยอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศนิ่งสงัดเหนือคุ้งน้ำ มีสายเอ็นสองเส้นมัดพันรอบหัวแม่ตีนหงิกงอทั้งสองข้างของแก ฉันยิ้มขำให้กับเทคนิคการตกปลาด้วยเบ็ดสายของแก “เวลาปลามันฉวย มันก็ทกหัวแม่ตีนกูด้วย คั่นทีนี้กูก็สาวขึ้นมามันก็เสร็จกูเท่านั้นแล้ โม่ไหรล่าว!!” แกอธิบายวิธีการนั่งตกปลาของแก หลังจากสูบยาหมดมวนเฒ่ายกลองสาวสายเอ็นเส้นหนึ่งขึ้นมา “แม่ม!! ปลาเปรตนี้ยัดเหยื่อดูหมด ฉลาดแท้” เสียงลากยาวสบถด่าอย่างเคยปาก แต่ไม่มีร่องรอยหงุดหงิดบนใบหน้าเหี่ยวกร้าน มือก็จัดแจงเกี่ยวตาเบ็ดเข้าไปในตัว’กุ้งหัวแข็ง’ ที่แก้ช้อนเก็บไว้ทำเหยื่อ แล้วแกก็ซัดเหวี่ยงตาเบ็ดออกไปกลางลำคลอง สายเอ็นจมใต้ผิวน้ำไล่มาจนถึงแคมเรือ มันสะดุดหยุดเมื่อสายทั้งกองหายลงน้ำ เหลือแต่ปลายอีกด้านผูกอยู่กับหัวแม่ตีนเฒ่ายก

ภาพโดย ฟองเวลา

………วันนี้’เฒ่ายก’มาในมาดแปลกตา แกใช้ใบจากสานเป็นอุปกรณ์กันแดด-ฝน ‘แมงดา’ คือชื่อเรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ สมัยเป็นเด็กฉันเคยเห็นคนทำไร่ทำนาบางคนใช้กันอยู่บ้าง แต่นั่นก็นานเต็มที และมันได้หายไปจากระบบความจำแล้ว มาวันนี้ถึงฉันจะไม่เห็นพรานเบ็ดแห่งคลองพระขยางค์ดึงสายเอ็นที่มีปลาดุกทะเลน้ำหนักกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นมาจากลำคลอง …..แต่ฉันก็ได้เห็น’แมงดา’ตัวใหญ่อีกครั้ง แมงดาซึ่งดูเหมือนจะสูญพันธุ์ไปแล้วด้วยซ้ำ. *ปลาช่อเบ็ด หรือ ปลามัดเบ็ด ลักษณะคล้ายปลาไหล สีออกน้ำตาลซีดๆ อาศัยอยู่ตามปากคลอง ปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อทะเล ลำตัวมีเมือกลื่น มันเป็นปลาจอมตะกละแห่งท้องน้ำ เมื่อฮุบเหยื่อแล้วมันจะม้วนตัวใช้ส่วนหางแหย่มัดสายเบ็ดจนพันยุ่งอีรุงตุงนังไปหมด คนตกเบ็ดส่วนใหญ่จะสับสายเบ็ดทิ้ง รวมทั้งเจ้าปลานั่นด้วยเพื่อไม่ให้มันมีชีวิตกลับมาก่อความรำคาญอีก เพราะไม่มีใครนิยมบริโภคเนื้อปลาชนิดนี้ ช่อ หรือ เชาะ มีความหมายเท่ากับการมัด เช่น “เชาะให้ชับชับเดี๋ยวมันติหลุด” (มัดให้แน่นๆ แข็งแรงๆ เดี๋ยวมันจะหลุด)**น้ำตาย ตรงข้ามกับ’น้ำใหญ่’ ‘น้ำตาย’คือช่วงเวลาประมาณ 8-10 ค่ำตามปฏิทินจันทรคติ ดวงจันทร์โคจรห่างจากโลกและส่งแรงดึงดูดมากระทำต่อน้ำทะเลได้น้อย ระดับน้ำทะเลจึงขึ้น-ลงเพียงเล็กน้อย กระแสน้ำในลำคลองไหลอย่างเรื่อยเฉื่อย [20 มิถุนายน 2561]

ภาพโดย ฟองเวลา