เรือลำนี้

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

ในหลายปีก่อน ขณะเป็นวัยรุ่น เรามองดูเรือลำนี้ แม้จะเห็นในมุมแคบ แต่ก็เห็นโอกาส เห็นอนาคต “อีกกี่ปีประเทศเราจึงจะใช้หนี้หมด?” เป็นคำถามจากลูกสาววัย 17 ปี เห็นแววหม่นบนใบหน้าของคนวัยใส โลกอนาคตกดน้ำหนักทับชีวิตปัจจุบันของวัยรุ่น “ก็… ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ถ้าเศรษฐกิจดี เก็บภาษีได้ตามเป้า มีเงินเหลือจากงบฯรายจ่ายประจำปี นั่นแหละที่จะได้ทยอยใช้หนี้ แต่ถ้าไม่พอจ่ายก็ต้องกู้เพิ่ม” ฉันตอบลูกไปตามความเข้าใจอย่างงูๆปลาๆ เธอก้มหน้านั่งลอกใบจากโดยไม่ได้หันมามอง “งบฯการศึกษาถูกตัด เห็นชัดเลย เทอมนี้รับแจกสมุดมาแค่ 6 เล่ม หนังสือก็น้อย ต้องแบ่งกลุ่มสุมหัวกันอ่าน กับได้ยางลบ ปากกา แท่งละสองบาท” เป็นประโยคบอกเล่า สะท้อนให้เห็นแววกังวลในความคิดเด็กมัธยม 6 ทำให้รู้สึกได้ว่าคนรุ่นนี้แบกรับบางสิ่งไว้อย่างหนักหน่วง “พี่น่ะ ตอนนี้ไม่ฝันแล้วว่าจะเรียนเพื่อเป็นอะไร ทุกคนในห้องคิดเหมือนกันเลย จบไปแล้วให้มีงานทำเร็วที่สุด” เธอหันไปพูดกับน้องสาวซึ่งกำลังจะเรียนระดับปวช.1 “ถือเป็นความซวยของคนรุ่นนี้ โตขึ้นมา ทรัพยากรของประเทศก็ถูกคนรุ่นเก่าใช้จนหมดเกลี้ยง เหลือมลภาวะทางสังคมไว้ให้จัดการ วิกฤตโควิด เกิดทั่วโลก แต่วิกฤตการเมืองเป็นเรื่องเฉพาะที่ ด้วยเงื่อนไขบางประการฉุดรั้งให้สังคมเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างหลายๆประเทศ …แต่เชื่อเถอะ อะไรๆมันต้องเปลี่ยนตามเงื่อนไขแห่งเวลา เหมือนที่พ่อเคยเขียนเรื่องแมวสมัย” ประโยคหลังไม่ใช่คำตอบ หากเป็นคำปลอบใจ ให้กำลังใจ ซึ่งในใจลึก ๆ เราก็อยากได้รับการอภัยจากคนรุ่นหลัง!!.