ในปัจจุบันสามารถแบ่งชาวเลที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ คืออูรักลาโว้ย (Ulak Lawoi) มอแกลน (Moklen) และ มอแกน (Moken) ชาวเลทุกกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ตามชายฝั่งทะเล หรือเกาะต่างๆหรือในบริเวณที่ไม่ห่างจากฝั่งทะเลมากนัก ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล คาดว่ามีประชากร ทั้งสามกลุ่มในประเทศไทยราว 12,000 คน
เราจะพบชุมชนชาวอูรักลาโว้ยได้ที่บ้านสะปำ บ้านแหลมตุ๊กแกเกาะสิเหร่ และหาดราไวย์ ในจังหวัดภูเก็ต บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านในไร่ บ้านคลองดาว และบ้านสังกะอู้ บนเกาะลันตาใหญ่ บ้านแหลมตง บนเกาะพีพี และชุมชนเกาะจำในจังหวัดกระบี่ ชุมชนเกาะบูโหลน เกาะอาดัง และเกาะหลีเป๊ะ ในจังหวัดสตูล ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 7,000 คน นับว่าเป็นชาวเลที่มีประชากรมากที่สุดในบรรดาสามกลุ่ม
ส่วนชุมชนชาวมอแกลนนั้นมีจำนวนหมู่บ้านมากที่สุดคือกว่า 20 แห่ง เช่น บ้านทุ่งดาบและบ้านท่าแป๊ะโย้ย และอีกหลายหมู่บ้านในอำเภอคุระบุรี รวมถึงบ้านทับตะวัน ลำแก่น ทุ่งหว้า น้ำเค็ม บางขยะ ขหนิม หินลาด ทับปลา เกาะนก และบ้านท่าใหญ่ ในอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา นอกจากนั้นยังมีชุมชนในอำเภอตะกั่วป่า บ้านท่าฉัตรไชยและบ้านเหนือในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรมอแกลนอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 4,000 คน
ชาวมอแกนมีประชากรน้อยที่สุดในบรรดาชาวเลสามกลุ่มมีชุมชนอยู่ในสามจังหวัด คือที่จังหวัดระนอง มีชุมชนอยู่ที่เกาะเหลา เกาะพยาม และเกาะช้าง ส่วนจังหวัดพังงา มีชุมชนที่หมู่เกาะสุรินทร์ และมีบางส่วนอยู่ที่บ้านบางแบกบ้านบางสัก ส่วนจังหวัดภูเก็ต มีชุมชนที่หาดราไวย์ ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรมอแกนอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1,000 คน
[ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล /ศมส.]