เกาะพระทอง ความสำคัญในแง่มุมของชาติพันธุ์สัมพันธ์

  • จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ (จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้) ได้บันทึกถึงการขุดหาดีบุกบนเกาะพระทองซึ่งดึงดูดให้ผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามารวมตัวกัน นักเผชิญโชคเหล่านี้เริ่มเข้ามาอยู่ด้านบนของเกาะพระทอง บริเวณที่เรียกว่าเกาะชาดเป็นจำนวนมากก่อนจะกระจัดกระจายไปทั่วเกาะเพื่อขุดหาดีบุก เกาะชาดจึงกลายเป็นชุมชนใหญ่จนกระทั่งมีการตั้งโรงเรียนประมาณปี พ.ศ. 2478 ต่อมาเกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนทยอยอพยพออกไปจนโรงเรียนปิดไปก่อน พ.ศ. 2500 ต่อจากนั้นก็มีชุมชนเกิดขึ้นที่บ้านปากจก บ้านท่าแป๊ะโย้ย และบ้านทุ่งดาบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนหลากหลายวัฒนธรรม
  • ชุมชนบนเกาะพระทองจึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมคือมีหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ทำมาหากินร่วมกันหรือเสริมกัน และมีการแต่งงานข้ามกลุ่มกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นชาวมอแกนและมอแกลน ชาวจีน ชาวไทย จากที่ต่าง ๆ ก็เข้ามาทำมาหากินในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์นี้ ทั้งทำประมงพื้นบ้าน ขุดหาแร่ ตัดไม้เผาถ่าน ทำสวนมะพร้าว ทำสวนมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ
  • ชื่อหมู่บ้านท่าแป๊ะโย้ยบนเกาะพระทองก็ชี้ชัดว่าเริ่มมีการตั้งชุมชนถาวรโดยคนจีน แต่คาดกันว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งทำมาหากิน จอดเรือ พักพิงอาศัยของชาวเลกลุ่มมอแกนและมอแกลนมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าจะมีสมาชิกจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์แต่นับว่าชุมชนบนเกาะพระทองเป็นชุมชนที่มีความกลมกลืนกัน มีการกีดกันหรือดูถูกดูแคลนกันน้อยมากเมื่อเทียบกับชุมชนบนฝั่ง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้คนในรุ่นวัยกลางคนถึงวัยชราได้มีโอกาสทำมาหากิน ทำเหมือง เพาะปลูก และประมง รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแบ่งปัน และช่วยเหลือกันเด็ก ๆ ก็โตขึ้นมาด้วยกันและเข้าโรงเรียนเดียวกัน ต่างก็ถือว่าเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน

    ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล /ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ /อ.นฤมล อรุโณทัย
ป้าเขียบ ผู้อาวุโสเกาะพระทอง บ้านทุ่งดาบ เกาะพระทอง /ภาพจากหนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล
ภาพแผนที่เดินดิน บ้านท่าแป๊ะโย้ย เมื่อปี 2554
เกาะพระทอง ปี 2554