หมกเม็ด(ทุเรียน)

บทความโดย ฟองเวลา

………แม่ถือทุเรียนเดินเข้าบ้านมา”เอาเจ้า!! เรียนต้นหน้าบ้าน กูกินแล้วสองยุม เนื้อมากดีเล็ดไม่ล่อด้วย” แม่ยื่นทุเรียนในมือส่งให้ “ต้นไหน? ต้นนอกหรือต้นใน” ฉันถามแม่ “ต้นนอกนุ ต้นในนี้เรียนพันธุ์ กูซื้อต้นที่เขาเพาะแล้วมาปลูกเอง ยังไม่หล่นที” แม่อธิบาย คำว่า’เรียนพันธุ์’ของแม่ หมายถึงทุเรียนสายพันธุ์อันเป็นที่นิยมของตลาด ไม่ว่าชะนี หมอนทอง หรือก้านยาว ซึ่งตรงข้ามกับ’เรียนบ้าน’ คือสายพันธุ์พื้นบ้านที่ไม่ได้มีชื่อเฉพาะ ลูกเล็ก เนื้อน้อย และบางสายพันธุ์เนื้อบางเฉียบจนมองเห็นเมล็ด เรียกว่า”เรียนเล็ดล่อ” “ลูกแรกแล้!!” ฉันถามแม่ขณะเอื้อมมือไปบิยุมทุเรียนมาป้อนปากตัวเอง “หล่นให้กินสองสามหนวยแล้ว ..เอาอีกเปล่า?” แม่ถาม “พอแล้ว ยุมเดียวพอ” ฉันตอบ ทุเรียนผลนี้รสอร่อยอย่างแม่ว่า เนื้อก็เยอะพอควร ฉันหยิบกินยุมเดียวพอให้รู้รสชาติ แม่ถือทุเรียนซีกนั้นเดินเร่ไปหลังบ้าน ลูกคนโตที่โรงเรียนยังไม่ประกาศเปิดเต็มรูปแบบนั่งทำงานอยู่ตรงนั้น “เอาต่ะใบไม้ หรอยนิ๊!” เสียงแว่วบรรยายสรรพคุณทุเรียนดังมาจากหลังบ้าน “กินต๊ะ ยังอีกหนวยโน ไว้ให้พวกนี้ตอนโรงเรียนเลิก” ‘ทุเรียนบ้าน’ของแม่ต้นนี้ แม่เองไม่รู้ว่ามันเป็นสายพันธุ์อะไร ตอนซื้อทุเรียนมากินเห็นว่ารสชาติอร่อยดีก็เอาเมล็ดไปฝังไว้ แม่รื้อฟื้นความจำ

ภาพโดย ฟองเวลา

………จำได้ว่าสมัยเป็นเด็ก บ้านเราไม่มีต้นทุเรียนเป็นของตัวเอง นานครั้งพ่อหรือแม่ถึงจะซื้อทุเรียนมากินสักครั้งหนึ่ง ก็เงินทองมันหายากยิ่งนี่!! เราจึงบริโภคทุเรียนกันอย่างคุ้มค่าอย่างที่สุด คือกินเนื้อทุเรียนหมดแล้ว ยังดูดเอาความหวานมันของเมล็ดจนซีดจืด จากนั้นก็นำเมล็ดทุเรียนมาหมกขี้เถ้ากองไฟ ซึ่งบ้านนอกบ้านป่าสมัยนั้น’ฟืนไฟไม่เคยขาดบ้าน’ หลังคาจากเต็มไปด้วยคราบดำมะเมื่อมจากควันไฟที่อบร่ำอยู่ทั้งปี โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน กองไฟจะเป็นแหล่งพลังความร้อน เป็นที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ พวก พริก มะเขือ แตงกวา ลูกเดือย ข้าวฟ่าง จะถูกผูกแขวนไว้เหนือกองไฟป้องกันเชื้อราและมอด จริงๆอาหารประเภท’หมกเม็ด’ ที่พวกเราเด็กๆกินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันคือ ‘เม็ดขนุนหมกไฟ’ เพราะที่บ้านมีขนุนหลายต้น เป็นขนุนพันธุ์พื้นบ้านอีกนั่นแหละ เรียกว่า”ขนุนเปียก” ลูกไม่ใหญ่ เปลือกบาง ยุมเยอะ เนื้อเปียกแฉะคือที่มาของชื่อ’ขนุนเปียก’ รสชาติหวานอมเปรี้ยวนิดๆ เวลานั่งยองกินขนุนเปียกก็พาให้เลอะเทอะไปด้วยยางขนุน กับน้ำหวานเปรอะไปถึงใบหู เรานั่งยองๆข้างกองไฟ ป้อนเนื้อขนุนเข้าทางมุมซ้ายของปาก คายเมล็ดออกทางมุมขวา พ่นลงกองไฟ ขนุนเปียกนั้นกินง่าย แทบไม่ต้องบดเคี้ยว ใส่ปุ๊บกลืนได้เลย ถ้ามีเสียงปะทุดัง”ปุ๊!!” จากกองไฟ นั่นแสดงว่าเม็ดขนุนสุกแล้ว ใช้ไม้เขี่ยออกมา กัดส่วนที่ไหม้ดำออก ที่เหลือเคี้ยวกลืนได้เลย ..หอมมัน เมล็ดเงาะก็ถูกทำอย่างเดียวกัน แต่มีข้อสังเกตว่าเมล็ดเงาะหมกไฟ ถ้าทานเยอะไปจะรู้สึกแน่นหน้าอก เหมือนจะเป็นลม ข้อค้นพบซึ่งเป็นเหมือนฉลากคำเตือนสำหรับผู้บริโภคอาหารประเภท ‘หมกเม็ด’ จะมีผลข้างเคียงอันเกิดจากการกิน คือจะทำให้ผู้กินท้องอืด เกิดมีแก๊สในกระเพาะอาหารหลังจากบริโภคไปแล้วราว 4-5 ชั่วโมง คือเป็นช่วงเวลาเข้านอนพอดี เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครนิยมกินอาหาร’หมกเม็ด’อีกแล้ว อาหารการกินอยู่ตามห้างร้าน ตามตู้แช่ และยังมีบริการส่งถึงบ้านโดยผู้บริโภคไม่รู้เห็นขั้นตอนการผลิตและปรุง ไม่มีใครก่อไฟให้ควันจับฝ้าเพดานจนเสียความสวย ไม่ต้องเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพราะมีบริษัททำหน้าที่นี้แทน!! มอดที่จะกัดกินเมล็ดพันธุ์มาในรูปข้อกฎหมาย นโยบายและข้อกำหนดต่างๆ …ที่ความร้อนจากกองไฟทำอะไรมันไม่ได้ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลาใกล้ ๑๑ นาฬิกา แม่เดินถือทุเรียนไม่ทราบแหล่งที่มาของสายพันธุ์ มาแจกแบ่งให้ลูกหลาน เราอาจต้อง’หมกเม็ด’อีกครั้ง หากการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์กลายเป็นอาชญากรรม …แด่การอภิวัฒน์สยาม

ภาพโดย ฟองเวลา