วันสุดท้าย ของเดือนแรก

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

ปลายเดือนแรกของปีนั้น พ่ออยู่ระหว่างเดินทางไปอินโดนีเซีย เป็นการเดินทางไปต่างประเทศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ ๒ ของตัวเอง ทั้งครั้งแรกและครั้งที่สองล้วนเป็นการไปศึกษาดูงาน ซึ่งจัดโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ด้วยกิจการงานที่ตัวเองร่วมทำอยู่ขณะนั้นเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ ทางองค์กรสนับสนุนจึงจัดให้คนทำงานเรื่องนี้ได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องเดียวกัน ณ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในครั้งนั้น คือ เมืองบันดาอาเจะห์ สุมาตราเหนือ พ่อเป็นคนหนึ่งที่ถูกคัดเลือก หรือจะพูดให้ถูกกว่านั้นคือ’ถูกชี้’ ด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายที่พ่อทำงานด้วยเกือบทั้งหมด เป็นผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เป็นคนที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ฉะนั้นแกนนำเก่งๆหลายคนที่ควรจะได้ไปศึกษาดูงาน ไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มอื่นๆในต่างประเทศในครั้งนั้นจึงเสียโอกาส ด้วยเพราะไม่สามารถทำหนังสือเดินทางได้ …ยังไม่ได้เป็นคนมีสัญชาติไทย ยังไม่มีสิทธิใดๆ …เอาเข้าจริงๆ ขณะนั้น กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและชาวมอแกนยังไม่มีแม้แต่ ‘บัตรเลขศูนย์’ หรือในชื่อเต็มว่า ‘บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ แม้ว่าขณะนั้นจะมียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลแล้ว (มติ ครม. ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘) แต่กว่านโยบายจะถูกแปลงไปสู่การปฏิบัติก็ต้องรอจน ขบวนผู้ประสบภัยสินามิ (ซึ่งนับเป็นผู้ประสบภัยซ้ำซ้อนเนื่องจากประสบภัยจากนโยบายความมั่นคงทำให้พวกเขาสูญเสียสัญชาติไทย ทั้งคนไทยพลัดถิ่น และชาวมอแกน) ร่วมกับผู้ประสบภัย ๖ จังหวัดอันดามัน เสนอต่อคณะรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ฯให้เร่งรัดดำเนินการสำรวจฯ นั่นแหละรัฐบาลจึงค่อยคลอด มติครม. ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ เร่งสำรวจสองกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ประสบภัยสึนามิเป็นเบื้องแรก และกว่าจะได้ลงมือดำเนินการจริงก็ต้องรอถึงเดือนมีนาคมของปีนั้น สรุปคือ ก่อนหน้านั้น คนไทยพลัดถิ่น และชาวมอแกนเกือบทั้งหมดไม่มีตัวตนทางกฎหมายใดๆ พ่อในฐานะที่เป็นคนมีสัญชาติไทยและทำงานกับคนกลุ่มนี้มาระยะหนึ่ง จึงใช้สิทธิ์แทนพวกเขาในการเดินทางไปศึกษาดูงาน

ภาพโดย ลุงโชติ

เล่าซะยาวก็เพื่อจะบอกว่า ขณะนั้นลูกยังอยู่ในท้องแม่ และมีอายุครรภ์ครบ ๙ เดือนแล้ว ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนมาระยะหนึ่งว่า “เธอต้องออกไปสัมผัสโลก หายใจ กินอาหาร และขับถ่ายด้วยตัวเองได้แล้ว” นั่นคือหลังจากลูกมีชีวิตอันปลอดภัยอยู่ใน’เซฟโซน’ ชื่อ ‘ครรภ์มารดา’ ดื่มกิน, หายใจ, และขับถ่าย, ผ่านทางสายสัมพันธ์ชีวิตที่ชื่อ’สายสะดือ’ ฉะนั้น ในวันที่หมอและพยาบาลในแผนกห้องคลอด ทำการ’ตัด’สายสัมพันธ์ (ก็สายสะดือนั่นแหละ) พ่อจึงไม่ได้อยู่ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย รู้สึกว่าจะมี’ลุงพงษ์’ คอยเป็นธุระจัดการวิ่งซื้อของใช้จำเป็นที่ขาดเหลือ ‘ลุงพงษ์’ จึงนับได้ว่าเป็นพยานรับรู้การกำเนิดของลูกอีกคน นอกเหนือจากทีมแพทย์พยาบาล …แต่ตอนนี้พยานอย่างลุงพงษ์ ไม่ได้อยู่ดูการเติบโตของลูกแล้ว ยังมีเกร็ดเล็กๆที่อยากให้ลูกอีกรู้ว่า ตอนลูกถือกำเนิด พ่อและแม่ต้องเตรียมเงินราวๆ ๑๐,๒๐๐ -๑๕,๐๐๐ บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าห้อง ค่ายา ฯลฯ เพราะขณะนั้น แม่ของลูก ยังไม่มีเอกสารใดๆที่ใช้แสดงตัวว่าเป็นประชากรโลก เมื่อพ่อกลับจากอินโดนีเซีย จึงรีบนำหนังสือรับรองการเกิดไปติดต่อสำนักทะเบียนเทศบาล เพื่อแจ้งเกิดภายใน ๑๕ วัน เพื่อให้ลูกมีเลขขึ้นต้นในสูติบัตรเป็นเลข ๑ ตอนนั้นพ่อก็หวั่นๆใจอยู่เหมือนกัน ว่าปลัดทะเบียนจะระบุรายการสัญชาติของแม่ในใบสูติบัตรว่าอย่างไร? พ่อมีประสบการณ์แย่ๆมาครั้งหนึ่งแล้ว ในครั้งที่ ‘พี่ใบไม้’ เกิด พ่อยังขาดทักษะในการเจรจา ขาดข้อมูลจึง ‘หัวหมอไม่เป็น’ ตอนนั้นเมื่อแจ้งเกิด เจ้าหน้าที่ทะเบียนเห็นว่ามารดาไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ เมื่อพ่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่ามารดาเป็นคนไทยพลัดถิ่น อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องสัญชาติ เจ้าหน้าที่ชิงสรุปว่าในเมื่ออพยพมาจากแผ่นดินพม่า ก็ต้องระบุสัญชาติพม่า หากไม่ระบุเช่นนั้นทางเขาก็ไม่สามารถออกสารแจ้งเกิดให้ได้ ในสูติบัตร’พี่ใบไม้’ จึงระบุสัญชาติมารดาว่า ‘พม่า’

ภาพโดย ฟองเวลา

หนนี้พ่อมีประสบการณ์บ้างแล้ว เริ่ม’หัวหมอเป็น’ และต่อรองอย่างไม่ลดละ จนหัวหน้าฝ่ายทะเบียนต้องออกมาพูดคุยกับพ่อด้วยตัวเอง “คุณรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นพม่า ในเมื่อไม่มีเอกสารชิ้นใดระบุความเป็นคนพม่า” พ่อโต้ขึงขัง “แล้วจะให้เราระบุว่าอย่าง” ปลัดเสียงอ่อนลงเมื่อเห็นว่าบรรยากาศตึงเครียด “อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่พม่า” พ่อเสนอ สุดท้ายในใบสูติบัตรลูกจึงระบุรายการสัญชาติมารดาว่า ‘อื่นๆ’ น้องชายของลูกเกิดช่วงปลายปี ๒๕๕๒ ขณะนั้นแม่ของลูกถือบัตรประจำตัว’บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ รายการสัญชาติมารดาในสูติบัตรน้องชายจึงเป็น ‘บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน’ เป็นเหตุให้พี่น้อง ๓ คน จากพ่อแม่เดียวกัน มีรายการสัญชาติมารดาแตกต่างกันอย่างกับเป็นคนละแม่!! แม้หลังมีพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ ๕ เมื่อปี ๒๕๕๕ ยอมรับให้คนไทยพลัดถิ่นมีสัญชาติไทยโดยการเกิด และเวลาต่อมา แม่ของลูกก็ได้สัญชาติไทยแล้ว ….แต่มันก็ไม่ได้มีผลย้อนหลังเพื่อไปแก้ไขสถานะมารดาในขณะลูกเกิดแต่อย่างใด ยังมีข้อเท็จจริงอีกว่า ตั้งแต่แรกเกิด จนถึง ๕ ขวบ ลูกถูกเลี้ยงดูโดยพี่ป้าน้าอาในเครือข่ายฯ โดยครอบครัวเราอาศัยอยู่ในสำนักงานของเครือข่ายฯ เวลาลงชุมชน หรือเข้าร่วมสัมมนา กระทั่วเคลื่อนไหวชุมนุม พ่อและแม่ก็พาลูกไปด้วย โดยมี พี่ ป้า น้า อา ลุง ตา หวา สู โต๊ะ จ๊ะ ป๊ะ ม๊ะ กระท้่งยายๆชาวมอแกน ช่วยกันเลี้ยงดู เรียกได้ว่า “เป็นลูกของมวลชนก็ว่าได้” ต่อเมื่อถึงวัยเข้าเรียนหนังสือนั่นแหละ ระบบการศึกษาตามแบบแผนค่อยๆแยกลูกออกจากขบวนดั้งเดิม เท่าที่พอรู้ คำว่าไท ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีตัว ย.ยักษ์ต่อท้าย นอกจากจะหมายถึง’คน’แล้ว ยังหมายถึงความเป็นอิสระ เป็นคนไทยจึงต้องเป็นอิสระ อิสระจากการครอบงำใดๆ ทั้งโดยผู้อื่น สิ่งอื่น และโดยการนำตัวเองเข้าไปอยู่ใต้การครอบงำ …หากการครอบงำนั้นนำมาซึ่งความทุกข์นานา. สุขสันต์วัน(คล้าย)วันเกิด นางสาวรัตติยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *