- ลอบดักปลา หรือไซ หรือที่ภาษาอูรักลาโว้ยเรียก “บูบู้ อีกัด” นั้นเป็นเครื่องมือประมงที่ใช้กันมานานนับร้อยปีแล้ว แต่เดิมลอบทำด้วยไม้ไผ่และหวายและมีขนาดเล็กกว่าในปัจจุบันมาก ชาวอูรักลาโว้ยจะนำลอบใส่เรือออกทะเลไปวางในบริเวณที่มีปลาชุกชุม แล้วออกไปกู้ลอบทุก 2-3 วัน โดยใช้วิธีดึงเชือกเถาวัลย์นำลอบขึ้นมาจากพื้นทะเล เอาปลาและสัตว์ทะเลต่าง ๆ ออกมาจากลอบและวางลอบลงไปใหม่
- ต่อมาแหล่งไม้ หวาย และไม้ไผ่มีน้อยลง ทรัพยากรในทะเลก็ลดลง ชาวอูรักลาโว้ยบางคนต้องหาซื้อไม้มาทำลอบ และเปลี่ยนจากวัสดุธรรมชาติเป็นลวด ตะปู อวนพลาสติก (เอาไว้ครอบด้านบนของตัวลอบ)ลอบจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งคน 10-20 คน สามารถเข้าไปอยู่ในลอบใหญ่ ๆ ได้ การกู้ลอบจากพื้นทะเลจึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ต้องใช้วิธีดำน้ำโดยใช้เครื่องปั๊มลมลงไปเปิดประตูลอบ และนำเอาสวิงหรืออวนเล็กๆ ตักปลาออกมาจากลอบ
- บริเวณทำมาหากินของชาวอูรักลาโว้ย โดยเฉพาะแถบเกาะต่าง ๆ ของภูเก็ตได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำที่มีชื่อเสียง เมื่อนักท่องเที่ยวดำน้ำลงไปเห็นลอบดักปลาขนาดใหญ่ใต้ทะเล บางคนก็เปิดประตูปล่อยปลาในลอบ หรือตัดไซหรือทำลายลอบ ด้วยคิดว่าจะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล แต่อันที่จริงแล้วกลับกลายเป็นการบีบให้ชาวอูรักลาโว้ยที่ทำมาหากินด้วยความสุจริตเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันระหว่างนักท่องเที่ยวดำน้ำกับชาวอูรักลาโว้ย กรณีเช่นนี้จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหา และการขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีประมงที่พยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมหากมองในอีกมุมหนึ่ง ชาวอูรักลาโว้ยจึงเป็นเหยื่อขอการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งทำให้ที่ดินมีราคาแพง และทรัพยากรถูกใช้ในเชิงพาณิชย์จนกระทั่งไม่มีพื้นที่ให้กับชนพื้นเมืองผู้ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรเหล่านี้มาเนิ่นนาน
ที่มา:หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล / ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร/อ.นฤมล อรุโณทัย