ยามสาม

โดย ฟองเวลา

ตอนลงไปช่วยงานสร้างบ้านมอแกนที่เกาะเหลา ตามโครงการฟื้นฟูชุมชนหลังสึนามิซึ่งสนับสนุนโดยพอช.และมูลนิธิชุมชนไท เคยได้เป็นสักขีพยาน ในการกำเนิดของชีวิตหนึ่ง การลงไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนทำให้เห็นวิถี เห็นมิติต่างๆของชีวิตผู้คน จำได้ว่ามีพ่อแม่มือใหม่ ถ้าจำไม่ผิด(แต่ถ้าจำผิดก็ขออภัยด้วย) ฝ่ายภรรยาชื่อ ตะวัน ตอนนั้นยังเป็นเด็กสาว คะเนอายุก็น่าจะ 17 ไม่เกิน 18 ปี …หรืออาจน้อยกว่านั้น!! ก็ปกติแล้วคนมอแกนจะไม่มีระบบนับจำนวน ไม่มีการบันทึก ใครเกิดเมื่อไหร่ อย่างไร ก็ใช้วิธีจำเอา นานๆเข้าก็ลืม และจำนวนปีที่อาศัยบนโลกก็ไม่ใช่สาระของชีวิตมอแกน ฝ่ายสามีชื่อ ‘ยาลุ้ง’ ทั้งคู่กำลังจะเป็นพ่อแม่มือใหม่ ‘ตะวัน’ท้องโตอุ้ยอ้ายมาเป็นเดือน ระยะนี้’ยาลุ้ง’ก็ไม่ออกไปดำปลิงทะเล เพราะแต่ละเที่ยวของการออกเรือจะใช้เวลากว่าสัปดาห์ ใกล้กำหนดคลอด ‘ยาลุ้ง’ เตรียมโน่น เตรียมนี่ตามที่’แม่หมอ'(จำชื่อไม่ได้แล้ว) ผู้ทำหน้าที่เป็นหมอตำแยแห่งเกาะเหลาจะบอกให้ทำ ไม้ฟืนถูกเตรียมไว้สำหรับเป็นเชื้อเพลิง ทั้งต้มน้ำร้อน ทั้งสำหรับ’อยู่ไฟ’ของแม่หลังคลอด ค่ำนั้น ‘ยาลุ้ง’ดูเหน็ดเหนื่อย เหงื่อโทรมใบหน้า ผมเผ้าที่หยิกขอดดูกระเซอะกระเซิงกว่าทุกวัน เพื่อนบ้านสี่ห้าคน นั่งล้อมกองไฟบนลานทรายใต้ต้นมะขามใหญ่ ยามดึกลมทะเลเงียบสงบ น้ำค้างหยาดหยดสู่ลานทราย เพื่อนบ้านทยอยแยกไปนอน พ่อแม่มือใหม่ยังไม่ได้หลับนอน เวลาสามยามแล้ว เสียงเด็กร้อง เสียงของคนเป็นแม่ เสียงปลอบประโลมดังมาจากกระท่อมยกพื้นสูง มันจะเป็นเช่นนี้ไปตลอดช่วงการ’อยู่ไฟ’


ภาพการก่อเกิดของขีวิตใหม่ที่เกาะเหลา ทำให้คาดคะเนได้ว่า กำเนิดของตัวเองคงไม่ต่างกัน ตามคำบอกเล่าเมื่อเรารบเร้าถามแม่ด้วยอยากรู้ความเป็นมาในห้วงขณะที่สมองยังจดจำอะไรไม่ได้ แม่ว่าฉันเกิดโดยมือหมอตำแย ที่เป็นแม่ของอาจารย์เสนอ เจ้าอาวาสวัดบ่อน้ำร้อน(วัดตะโปทาราม) กรรมวิธีนั้นคงไม่ต่างจากที่เห็นบนเกาะเหลา ต่างกันเพียงการบันทึกข้อมูลจำนวนนับเดือนปีที่เกิด และการมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด พ่อของฉันกับ ‘ยาลุ้ง’ คงทำหน้าที่ในคืนที่ลูกถือกำเนิดในบทบาทคล้ายกัน เวลาสามยามก็คงไม่ใช่เวลาหลับนอนของผู้เป็นพ่อแม่ของเด็กแรกเกิด
พ่อบ่นว่านอนไม่หลับมาสองคืนแล้ว ในท่านอนปกติพ่อว่ามันหายใจไม่สะดวก ไม่คล่อง เหมือนจะมีอาการหอบ แม้กรรมการวัดจะซื้อถังอ๊อกซิเจนพร้อมอุปกรณ์อื่นมาไว้สำหรับหลวงพ่อแล้ว แตมันก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก ดึกแล้วฉันหลับๆตื่นๆ พ่อลุกออกจากห้องมานั่งที่โซฟา ลากเก้าอี้ปล๊าสติกมารองรับแขนนั่งฟุบหน้า พ่อว่านั่งท่านี้มันหายใจสะดวก ฉันบีบนวดต้นคอและขาให้ แล้วก็คอยเฝ้าดูไม่ห่างนัก เกรงว่าพ่อจะเผลอหลับทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเก้าอี้ซึ่งจะทำให้ล้มหัวทิ่มพื้นได้ “ถ้าแบบนี้ กลางวันไม่ต้องรับแขกนะ กลางวันไม่หอบก็ต้องเปลี่ยนไปนอนกลางวัน ส่วนกลางคืนนอนไม่หลับก็นั่งอยู่ยามแบบนี้ ต่อเช้าใครมาหาผมจะจัดการเอง”ฉันพูดเสียงเบาแต่จริงจังหลังจากตื่นมา’นั่งยาม’ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนมาจนตีสามของวันใหม่ พ่อตอบเสียงเบาเช่นกัน”ก็มันนอนไม่หลับ” ฉันแกล้งขู่ไปอย่างนั้นเอง จริงๆก็สงสารพ่อ เข้าใจความเป็นพ่อ และรู้ว่าพ่อก็อดนอนช่วงคืนแรกๆที่ฉันถือกำเนิด.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *