Skip to content
- ในประเทศไทยของเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มสังคมล่าสัตว์และเก็บหาอาหารตามธรรมชาติอยู่ 3 กลุ่ม คือกลุ่มชาวเล (อูรักลาโว้ย มอแกลน มอแกน) อาศัยอยู่ทางภาตใต้ฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย กลุ่มชาว มลาบรี อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่คนภายนอกมักรู้จักกันในชื่อของ “ผีตองเหลือง” หรือ “ตองเหลือง” และกลุ่มชาวมานิ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ซาไก” หรือ “เงาะป่า” อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยในจังหวัดตรัง สตูล พัทลุงและยะลา และทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันอาศัยเป็นกลุ่มเล็ก ๆบางกลุ่มเดินทางอพยพโยกย้ายในป่าเหมือนเช่นในอดีต แต่บางกลุ่มเริ่มตั้งถิ่นฐานถาวรขึ้น
- กลุ่มสังคมล่าสัตว์และเก็บหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ หรือที่มักเรียกกันว่าเก็บของป่า-ล่าสัตว์ (Hunting and gathering society) เป็นกลุ่มสังคมแบบหนึ่งที่มีประชากรจำนวนน้อย อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีวิถีชีวิตโยกย้ายอพยพบ่อยครั้งเพื่อเดินทางไปตามฝูงสัตว์หรือตามหาแหล่งอาหาร มีการใช้เทคโนโลยีแบบเรียบง่าย ทำได้เอง ซึ่งได้แก่เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุตามธรรมชาติ มีการแบ่งงานกันทำตามเพศและวัย สมาชิกแต่ละคนในสังคมมีบทบาทที่สำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจ นั่นก็คือทุกคนมีส่วนช่วยกันหาอาหารเมื่อหาอาหารมาได้แล้วก็มักจะมีการแบ่งปันอาหารให้ทั่วกันทุกคน หลายกลุ่มไม่จำเป็นต้องเก็บถนอมอาหารเพื่อรักษาสภาพให้อยู่ได้นานๆ เพราะธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์
- กลุ่มสังคมขนาดเล็กทั้งสามกลุ่มนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยมาก
ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล /อ.นฤมล อรุโณทัย/ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ
Post Views: 25