โดย ฟองเวลา
เขาแจ้งมาทางกล่องข้อความว่าจะแวะมาเยี่ยม หลายวันมาแล้ว แจ้งว่าอยากแวะเที่ยวชมวิถีพื้นบ้านแถบถิ่นที่ฉันอยู่ นั่นก็ตามข้อมูล’เรื่องโม้’ที่ฉันโพสต์เฟชบุ๊กมาอย่างต่อเนื่อง (เรียกว่าหลงคำคุยก็ว่าได้ อิอิ) แต่ด้วยช่วงระยะนี้ฉันมีภารกิจต้องอยู๋คอยปรนนิบัติหลวงพ่อชราจึงไม่อาจต้อนรับขับสู้มิตรสหายรุ่นใหญ่ตามใจหวัง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพบกันครั้งแรกในชีวิตได้มีเรื่องน่าจดจำ ฉันซื้อ’ลูกจากเชื่อม’เตรียมไว้เป็นของฝาก ทราบว่าคณะสหายอาวุโสลงมาพักผ่อนที่สมุย และขากลับเข้ากรุงเทพฯได้ถือโอกาสแวะเยี่ยมเยียนฉัน ผู้เป็นมิตรรุ่นน้อง(เพื่อนำทางเฟช.)โดยใช้เส้นทาง หลังสวน-พะโต๊ะ-ระนอง ชาวคณะทั้งคนล้วนเป็นผู้อาวุโส วัยโดยเฉลี่ยคือเจ็ดสิบปี เมื่อเปิดประตูบงจากรถแล้ว คุณน้าสหายผายมือไปทางเพื่อนคนหนึ่งที่มาด้วยกัน “คนนี้เป็นสหายที่อยู่ในเขตเดียวกัน …แต่เดี๋ยวนี้เป็นนักธุรกิจกันหมดแล้ว” ประโยคหลังคล้ายเป็นการออกตัวคลายข้อสงสัย “จีนก็พัฒนาประเทศตามแนวทางทุนนิยม”ฉันพูดโต้ตอบมิตรอาวุโสอย่างเกรงใจ ‘สหายสงบ’ บอกว่ามีของมาฝากฉันเช่นกัน ว่าแล้วก็เดินไปหยิบห่อกระดาษสีน้ำตาลมาจากในรถ “เนี่ย ไม่มีใครรู้เลยว่าข้างในคืออะไร” สหายสงบพูดกับฉันโดยกวาดสายตาไปมองเพื่อนร่วมคณะทั้งสามคน แล้วก็เฉลยว่าสิ่งที่เตรียมมาให้ฉันคือหนังสือสองเล่ม เล่มแรกเหมาะสำหรับเด็ก IM คือ อยู่ เป็น และอีกเล่ม ‘กระทรวงสุขสุดๆ’ เป็นชื่อหนังสือที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว งานของ อรุณทตี รอย
เมื่อมิตร’สหาย’อาวุโส ซึ่งถูกแนะนำว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการพิมพ์หนังสือเล่มได้อธิบายขยายความเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ ฉันตอบว่าไม่คุ้นทั้งชื่อหนังสือ ทั้งชื่อผู้เขียน “ผมอ่านหนังสือไม่มาก และไม่หลากหลายคนรับ” ฉันตอบตามจริง
คล้อยหลังชาวคณะสหายซึ่งต้องขอตัวเดินทางต่อ ฉันค่อยบรรจงแกะห่อของฝาก ในห่อมีสิ่งที่ทำให้ฉันแปลกใจ และตกใจเล็กๆ ระหว่างหนังสือสองเล่ม มีธนบัตรสอดอยู่จำนวนหนึ่ง สหายอาวุโสตั้งใจที่จะแวะมาหาฉันจริงๆ
….สิ่งที่เสียดายมากๆคือ ฉันไม่อาจปลีกตัวไปนั่งสนทนากับเหล่าสหายได้ คืนนี้ชาวคณะแวะนอนพักค้างแรมที่รีสอร์ทริมแม่น้ำบนเส้นทางระนอง-ชุมพร.