โดย ฟองเวลา
ไม่ใช่ประโยคที่แสดงความเป็นเจ้าของ คำ ‘ฉาน’ ในภาษาถิ่นใต้มีความหมายเท่ากับ’ฉัน’ เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้พูดแทนตัวเอง เช่นเดียวกับคำว่า ผม ดิฉัน กู ฯลฯ เพียงแต่คำว่า’ฉาน’ออกเสียงยืดยานกว่า ผู้ใช้คำนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ที่มีวัย ๕๐ ปีขึ้นไป เกิดและเติบโตอยู่ตามบ้านนอกบ้านนาโซนใต้ตอนบน (เลี่ยงการใช้คำว่า คนโบราณ เพราะโบราณนั้นมีหลายช่วงยุคสมัย แล้วแต่ผู้พูด)
คำว่า’ฉาน’เป็นสรรพนามที่สุภาพ สุภาพอ่อนโยนกว่าคำว่าผม ผู้ชายท่าทางแมนๆก็ใช้คำนี้ เคยได้ยินผู้ชายสูงวัยแถวสุราษฎร์ธานีใช้คำนี้แทนตัวเอง พระอาวุโสหลายรูปก็แทนตัวเองด้วยคำนี้
“แต่คืนทั้งลมทั้งฝน ตกกาหนัด ฉานเปียกหมดหน้ากุฏิ’ ประโยคบอกเล่านี้มีความหมายไปอีกแบบ ‘ฉาน’ในประโยคนี้เปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นคำกริยา ‘ฝนฉาน’ คือ’ฝนสาด’ หมายถึงสายฝนที่ตกลงมาแล้วถูกแรงลมพัดเปลี่ยนทิศทางเข้ามายังพื้นที่ในร่ม คำ’ฉาน’ในถิ่นใต้ตอนบน ใช้แทนคำว่า’สาด’ “ฉานอุตสาหยับไปนั่งในสุดแหล่ว ฝนยังฉานเปียกหม๊ด.. คนขับสองแถวเปรตนั้นกะไม่จอดปิดผ้าย่าง” (ฉันอุตส่าห์ขยับไปนั่งในสุดแล้ว ฝนยังสาดเปียกหมด.. คนขับรถสองแถวเปรตนั่นก็ไม่ยอมจอดรถปิดผ้ายาง)
“ฉานแอบรักเธอ ฉานจึงยกขึ้น(ลุกขึ้น)ให้เธอเท็ด(ขยับก้น)ไปนั่งข้างใน ..ฉานยอมนั่งนอก ฝนฉานเปียกหม๊ด..!!!”.