ผ้าเอี้ยว

บทความโดย ฟองเวลา

………ถ้าโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน (เบียดแย่งตำแหน่งมาจาก ‘รถยนต์’ ซึ่งเคยครองตำแหน่งปัจจัยที่ 5 มาระยะหนึ่ง) ในยุคก่อนปี 2530 ลงไป และก่อนๆนั้นยิ่งๆไปอีก โดยเฉพาะตามสังคมชนบท ในบรรดาผู้ชายหนุ่มๆจนกระทั่งวัยชรา ต้องมี’ผ้าขาวม้า’ เป็นปัจจัยที่ 5 อย่างที่ขาดไม่ได้เลย ต้องมีผ้าขาวม้าอยู่กับตัวเสมอ ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร!! สมัยก่อนนั้น ‘ผ้าขาวม้า’ไม่น่าจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เครื่องนุ่งห่ม!!! แน่นอนว่ามันใช้ห่มได้ แต่ผู้คนยุคก่อนก็ใช้ทำอย่างอื่นถี่และบ่อยกว่า เช่น ใช้ผ้าเช็ดตัว ใช้โพกศีรษะ ใช้คาดสะเอวทับกางเกงขาก๊วยแทนเข็มขัด ใช้คลุมศีรษะปล่อยชายไปด้านหลังรองรับการแบกกระสอบของกรรมกรตามโกดังสินค้า ..ในพิธีไหว้ผีเจ้าที่เจ้าทาง พ่อหมอผู้ทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณต้องมีผ้าขาวม้าพาดบ่า …โดยไม่จำเป็นต้องมีเสื้อใส่!! ผ้าขาวม้ายังใช้แทนเป้ ห่อมัดเสบียงเป็นก้อนกลมไว้ที่ชายทั้ง 2 ข้าง ยามต้องเข้าป่าหาเก็บของป่า หรือไปตัดหวาย ตัดไผ่ หาไม้หอม หาแร่ฯลฯ บางคนใช้ผ้าขาวม้า’เคียนเอว’ สามารถใส่เสบียงจำพวกหยูกยา ยาเส้น ข้าวห่อ หมากพลูฯ ไว้ในม้วนผ้าขาวม้าที่พันรอบเอว เรียกว่า”ชายพก” ชายวัยกลางคนร่างผอม นุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว กำมีดพร้าถางดายหญ้าในสวนข้างบ้าน บางคนรวบชายผ้าขาวม้า สอดลอดหว่างขาไปด้านหลัง ก่อนใช้ปลายผ้าจุกม้วนเข้าไปที่เหน็บขอบสะเอว เรียกว่า ‘นุ่งแบบเตี่ยว’ สะดวกนักแลเวลาปีนป่ายต้นไม้

ภาพโดย ฟองเวลา

………คนบ้านนอกชนบทผูกพันกับผ้าขาวม้ามายาวนาน เริ่มตั้งแต่เกิด ตอนจะเกิดบางหมอตำแย จะใช้ผ้าขาวม้าผูกไว้กับขื่อคาของบ้าน ปล่อยชายด้านหนึ่งห้อยลงมาสำหรับว่าที่แม่ใหม่ผู้กำลังจะคลอดใช้มือจับพันกับผ้า ดึงตัวช่วยเบ่ง ปากก็อาจกัดผ้าขาวม้าอีกผืนเพื่อลดการกระทบกันของฟันบนกับล่าง ยามรู้สึกเจ็บปวดท้องคลอด เมื่อคลอดเป็นตัวเป็นตนแล้ว ก็ยังใช้ผ้าขาวมาทำเปลเด็กเล็กได้ แม้ชาวชาติพันธุ์ชนเผ่ายังใช้ผ้าขาวม้าทำเป็นถุงเป้คาดลูกน้อยไว้บนหลังยามเดินไปไร่ ไป”ยะง๋านยะก๋าน” แม่และพี่ๆชาวมอแกนตามเกาะแก่ง ใช้ผ้าขาวม้าผูกแบบสะพายแล่งคล้องไหล่ ทำเป็นถุงข้างลำตัว ให้น้องเล็กๆนั่ง แทนการอุ้มเตี่ยวด้วยมือและแขน ทั้งคนหนุ่ม คนสาว กระทั่งคนทุกวัย เมื่ออกหัก ผิดหวังจากสิ่งต่างๆนาๆ ครั้นคิดหาทางออกไม่ได้ ก็ตัดสินใจจบชีวิตตนเองหนีความรวดร้าวของชีวิต ด้วยการแขวนคอโดยใช้ผ้าขาวม้าผูกกับขื่อบ้าน กับกิ่งไม้ ..แต่ก็มนุษย์อีกจำพวกที่คลั่งไคล้การเสี่ยงโชค ยังอุตส่าห์พยายามอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ครอบครองผ้าขาวม้าผืนที่ใช้ผูกคอตาย มาทำพิธีขอหวย ขอเลขเด็ด …นี่คือความข้องเกี่ยวของผ้าขาวม้ากับผู้คนยุคครั้งกระโน้น!! จะเห็นได้ว่า ‘ผ้าขาวม้าไม่ได้ทำหน้าที่อยู่ในหมวดหมู่เครื่องนุ่มห่มแต่อย่างใด!! สมัยเป็นเด็ก ได้เห็นว่าผ้าขาวม้ามี 2 ชนิด คือผ้าขาวม้าลายสก็อตเป็นตารางใหญ่ๆ กับผ้าขาวม้าสีแดงทั้งผืน สมัยก่อน คนแถวบ้านจะเรียกผ้าขาวม้าว่า “ผ้าเอี้ยว” ซึ่งยังไม่ได้สืบสวนที่มาของชื่อนี้ว่ามีความเป็นมาเช่นไร? ส่วนผ้าขาวม้าผืนสีแดง บางคนเรียก “ผ้าแดงเทศ” อันนี้ยิ่งขาดความรู้กันไปใหญ่ ก็ได้แต่นึกเอาเองว่า “เทศ” ในความหมายของคนบ้านๆ ก็คือคนแขก “แดงเทศ” ก็น่าจะหมายถึงผ้าแดงที่คนแขกใช้ ลืมสังเกตว่า “แขก” ที่ออกหน้าเวทีตอนลิเกเปิดโรง มีผ้าขาวม้าแดงเป็นอาภรณ์ประกอบด้วยไหม? ลองค้นดูในวิกิพีเดีย อธิบายคำเรียก ‘ผ้าขาวม้า’ ว่าเพี้ยนมาจากว่าคำ ‘กามัร บันด์’ ในภาษาเปอร์เซีย อธิบายเพิ่มว่า เป็นผ้าที่ใช้คาดรัดเอว แต่คนไทยเรานั้นได้นำมาปรับใช้สารพัดประโยชน์กว่า สรุปว่าผู้ชายชนบทไทย ก็มีค่านิยม”ใช้ของนอก” มาเนิ่นนานแล้ว เป็นอารยธรรมนำเข้าจากเปอร์เซียเชียวนะ แค่ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ผ้าเอี้ยว” “ผ้าชุบ” “ผ้าขาวม้า”(ขาวตรงไหนว๊า??) แค่นี้เจ้าของอารยธรรมเดิมก็จำไม่ได้แล้วแหละ………..9 ส.ค.64