“บากัด”คืออะไรสำคัญต่อชาวอูรักลาโว้ยอย่างไร

  • “บากัด” หรือ “บาฆัด” เป็นคำในภาษาอูรักลาโว้ย หมายถึง การเดินทางจากบ้านไปทำมาหากินและพักแรมตามสถานที่ต่าง ๆ และสร้างเพิงพักอาศัยชั่วคราวแบบง่าย ๆ เพื่อหลับพักผ่อนและทำอาหาร มีการนำข้าวของเครื่องใช้ติดตัวไปเท่าที่จำเป็น อาทิ มีดพร้า ขวาน แห เบ็ด ฯลฯ ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวจะเดินทางไปด้วยกันทั้งหมด
  • เส้นทางบากัดมีหลากหลายเส้นทาง ทั้งระยะใกล้และไกล ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่หมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะลันตา เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เกาะภูเก็ต เกาะไม้ท่อน หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ เรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะมะริดในเมียนมาร์หรือพม่า เมื่อชาวอูรักลาโว้ยได้ของที่หามาได้จากทะเล เช่น ปลา หอย ปู ฯลฯ ก็จะนำมาบริโภคและแบ่งกันภายในชุมชน แต่ของบางอย่างที่ขายได้และมีราคาดี ก็จะเก็บไว้ขายหรือแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าคนกลาง เช่น ปลิงและหอยตากแห้ง เปลือกหอยมุก หอยนมสาว ฯลฯ
  • การเดินทางโยกย้ายไปตามแหล่งทำมาหากินนี้สอดคล้องกับฤดูกาล การเคลื่อนที่ทำให้ชาวอูรักลาโว้ยสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรเนื่องมาจากการใช้สอยที่ต่อเนื่อง วิถีดั้งเดิมของชาวอูรักลาโว้ยจึงเป็นวิถีแห่งการอนุรักษ์แต่ภายหลังระบบตลาดเข้ามาครอบงำวิถีชีวิตมากขึ้น ทำให้ต้องเก็บหาทรัพยากรมากขึ้น และขูดรีดแรงงานตัวเองมากขึ้น เช่น มีการใช้เครื่องปั๊มลมช่วยในการดำน้ำ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคน้ำหนีบ(decompression sickness) และทำให้ชายชาวอูรักลาโว้ยหลายคนพิการหรือเสียชีวิต

    ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเลร้อยเรื่องราวชาวเล /อ.นฤมล อรุโณทัย /ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธรฯ
ภาพบากัดชาวอูรักลาโว้ย เกาะราวี จ.สตูล โดยสุพิณ วงศ์บุษราคัม
บากัด อ่าวโละลาน่า เกาพีพี จ.กระบี่
บากัด อ่าวโละลาน่า เกาพีพี จ.กระบี่
บากัด อ่าวโละลาน่า เกาพีพี จ.กระบี่