โดย ตะปู
เมื่ออายุครบบวช แม่บอกผมว่าให้บวชเสียตอนที่ยายยังอยู่ ช่วงนั้นผมเองก็ยังไม่มีแผนจะทำอะไร จึงตกปากรับคำแม่ ผมบวชที่วัดใกล้บ้านเพื่อให้ยายได้ตักบาตรตอนเช้า ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นไปอย่างเรียบง่าย หนึ่งสัปดาห์ก่อนบวชผมไปนอนวัดเพื่อท่องหนังสือ ตอนเช้าสะพายย่ามตามหลังพระ พิธีโกนหัวจัดขึ้นที่บ้าน กลางคืนมีงานเลี้ยงเล็ก ๆ ผมอยู่ในงานจนสมควรแก่เวลาก็ขอตัวกลับวัดเพื่อเตรียมตัวเป็นพระในวันรุ่งขึ้น
เป็นพระได้ไม่กี่วันผมก็เริ่มตั้งคำถาม พระห้ามทำอย่างนั้น พระต้องทำอย่างนี้ ที่มาส่วนมากก็ไม่พ้นคำบอกเล่าปากต่อปาก ผมจึงสอบถามกับพระอาจารย์ ผมต้องการหนังสือที่อธิบายศีลทั้ง 227 ข้อ พระอาจารย์ค้นตู้อยู่ครู่หนึ่งแล้วยื่น วินัยมุข ซึ่งเป็นหนังสือเรียนนักธรรมตรีให้กับผม
เนื้อหาของวินัยมุขบอกเล่าที่มาและอธิบายข้อปฏิบัติของศีลทั้ง 227 ข้ออย่างละเอียด จบจากวินัยมุขผมก็ไล่เรียงไปยังเล่มอื่น ๆ ในชุดนักธรรมตรี จากนั้นก็รื้อชั้นหนังสือ ผมพบว่าวัดแห่งนี้มีหนังสือดีดีอยู่เยอะมาก ผมเจอแม้กระทั้ง’พุทธประวัติภาคที่ ๑ ‘เขียนโดยกรมพระยาวชิรญาณวโรรส !! หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นพุทธประวัติในกรอบคิดของโลกยุคใหม่ มีการวิพากษ์และตีความอภินิหาร ในแง่ประวัติศาสตร์หนังสือเล่มนี้คือหมุดหมายหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของสังคมไทย(เล่มที่ผมอ่านพิมพ์ขึ้นเมื่อไหร่ผมจำไม่ได้ แต่สภาพหนังสือเก่ามากผมได้บรรจุลงถุงซิปล็อคก่อนมอบคืนแก่พระอาจารย์)
ผมใช้เวลาในยามค่ำคืนอ่านทุกอย่างที่หาได้ ผมอ่านงานของฆราวาส อ่านงานของพระ อ่านประวัติศาสตร์ วิชาการ แนวทางปฏิบัติ ผมไม่ได้รู้อะไรมากมายนักก่อนจะมาบวชทุกสิ่งจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม
ผมทดลองสิ่งที่อ่านด้วยการปฏิบัติ ผมนั่งสมาธิ เดินจงกรม ติดตามลมหายใจ ผมได้ลิ้มชิมรสผลของการปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่คลายความสงสัยในใจ
คงเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เติมโตมา ผมจึงเชื้ออย่างปักใจว่าศาสนพุทธคือทางออก และสิ่งที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้คือสัจจะ ผมต้องการคำยืนยัน สิ่งที่จะรับประกัน’ผลตอบแทน’จากการกระทำของผม
‘พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้’ เขียนโดย สมเด็จพระพรหมคุณากรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) คือประตูที่พาผมเข้าสู่รากของพระธรรม หนังสือเล่มนี้บอกเล่าทุกอย่างเกี่ยวกับพระไตรปิฎกประวัติศาสตร์และลายแทง ผมสามารถเลื่อนหาหัวข้อที่สนใจ แล้วหนังสือจะบอกว่าต้องอ่านตรงไหนของพระไตรปิฎก ผมอ่านพระสุตตันตปิฎก ต่อด้วยพระวินัย(เฉพาะศีลของสงฆ์) บางเนื้อหาของอรรถกถาธรรม ส่วนพระอภิธรรมผมอ่านไม่รู้เรื่อง
พระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกแตกต่างเหลือเกินจากสิ่งที่ผมรับรู้มา แกมีบางสิ่งที่ไม่เหมือนกับอะไรที่เคยรู้จัก ผมเริ่มมีภาพจำลองของพระพุทธเจ้าในแบบของตัวเอง นั่นทำให้คำสอนที่ผมเคยได้ยินมีความหมายต่างออกไป จับต้องได้และเรียบง่ายต่อการปฏิบัติ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งที่ผมสงสัยก็ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ชาตินี้ชาติหน้า บาป-บุญ นรก-สวรรค์ ผมพบเนื้อหาบางส่วนที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้แต่ก็เป็นเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอจะเป็นข้อยุตติ ทั้งยังขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธองค์เสียเอง
การอ่านพระไตรปิฎกจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสน
ผมยังคงปฏิบัติแม้ใจร้อนรน พยายามทำความเข้าใจแต่ก็ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย ผมแหวกว่ายท่ามกลางข้อมูลที่ไม่รู้วิธีจัดวาง ถึงจุดหนึ่งผมก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับใครได้อีก ผมสับสนเกินกว่าจะเรียบเรียงอะไรออกมาได้ ผมต้องการใครสักคนช่วยคลี่คลายสิ่งเหล่านี้
ผมจึงขอให้แม่พาไปสวนโมกข์ ซึ่งแม่ก็ยินดี พระอาจารย์เองก็ไม่ขัดขวาง เราออกเดินทางหลังฉันเช้าถึงสวนโมกข์เกือบเย็น ผมแจงเจตนาให้พระซึ่งมีหน้าที่ต้อนรับทราบ พระรูปนั้นบอกกับผมว่าไม่สามารถให้ผมจำวัดที่นี่ได้เพราะหากย้ายวัดระหว่างพรรษาผมจะขาดอนิสงส์กระฐิน ผมนิ่งฟังไม่ตอบโต้ ผมไม่สนอนิสงส์กระฐินแต่ผมคิดถึงพระอาจารย์ แกรู้แต่ยอมให้ผมมา แกก็ไม่เคยขัดขวางการเรียนรู้ของใคร
เรากลับถึงวัดหลังฟ้ามืด ผมรายงานตัวกับพระอาจารย์แล้วกลับเข้ากุฏิของตัวเอง ทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ท่องไปในจักรวาลของความคิดและวันเวลา ผมไม่แน่ใจว่าความรู้สึกนั้นควรเรียกว่าอะไร รู้สึกแย่แต่ก็ปลอดโปร่งพอที่จะใช้ความคิด ผมนึกถึงเรื่องใบไม้กำมือเดียว พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเดียวคือการดับทุกข์
แต่ที่ผมอยากรู้คือไม้ทั้งป่า ผมอยากรู้มากกว่าที่แกสอน หลายสิ่งที่อยากรู้ก็เป็น อจินไตย หรือสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจด้วยความคิด ผมหมกมุ่นกับมันจนลืมข้อปฏิบัติของการดับทุกข์ ผมเป็นอย่างนั้นเพราะยังไม่ยอมรับตัวเอง การทำความรู้จักสิ่งที่เป็นนามธรรมจำเป็นต้องยอมรับตัวเองเสียก่อน เมื่อยอมรับแล้วจึง’เห็น ไม่เช่นนั้นสิ่งที่รับรู้จะเป็นเพียงความคิด ชั่วขณะนั้นผมได้เข้าใจ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา
ไม่มีคำยืนยันใด ๆ จากพุทธองค์
ผมใช้เวลาอีกหลายปีในการจัดเรียงความคิดของตัวเอง ผ่านวันเวลาจากที่เคยเร่งรีบก็ช้าลง ทุกวันนี้ผมยังไม่เห็นปลายทางของสิ่งที่ทำ ไม่มีคำตอบให้สิ่งที่สงสัย บอกไม่ได้ว่าอะไรสำคัญกว่าอะไร ผมเพียงเรียนรู้แล้วลงมือทำ
.
.
.
บางงานเขียนทำไม่เสร็จในวันเดียว