บทความโดย ฟองเวลา
ระยะทางจากบ้าน’คลองเข้’ถึงบ้าน’แหลมนอก’ประมาณสามชั่วโมงเดิน เป็นเส้นทางเก่าแก่ น่าจะเก่าพอกันกับอายุชุมชน ‘บ้านคลองเข้’หรือคลองจระเข้ เป็นหมู่บ้านคนไทยบ้านสุดท้ายด้านทิศเหนือของตำบลบกเปี้ยน ข้ามทิวเขา ป่าพรุและคลองโตนขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็จะเป็นเขตตำบลลังเคี่ย บ้าน’คลองเข้’เป็นบ้านป่า ผู้คนจะปลูกบ้านเรือนอยู่ห่างๆกัน ปลูกอยู่ในสวนของใครของมันกระจายกัน เส้นทางระหว่างบ้านจะเป็นทางเดินในสวน ข้ามร่องน้ำ ทางควายเดิน เป็นหลุมเป็นแอ่ง บางจุดมีร่องรอยขุดแต่งเส้นทางด้วยจอบ ตรงจุดที่ต้องข้ามลำห้วยมีเพียงขอนไม้เป็นสะพาน มีร่องรอยล้อรถมอเตอร์ไซค์ขับเบี่ยงหลบแอ่งร่องจนปีนข้างทางกว้างและลึก บ้านคนไทยไม่มีแนวรั้ว ไม่มีป้ายบอก ไม่มีอุปกรณ์ดับเพลิงซึ่งมีเพียงแผ่นสังกะสีติดด้ามไม้ยาวทาสีแดง ไม้ง่ามด้ามยาวทาสีแดงเช่นกัน พลั่วเหล็กสีแดง ติดไว้ที่รั้วหน้าบ้านอย่างในชุมชนคนมุสลิม หรือชุมชนคนพม่าที่ปลูกติดกันมีรั้วไม้กั้นแบ่งเขต สองข้างทางเดินเป็นสวนสวนสมรมเก่าแก่ ยังไม่มีสวนปาล์มและยางพารา ผ่านไร่ข้าวร้างยังเห็นซังข้าวกับพืชไร่บางชนิดที่หว่านหยอดเมล็ดพันธุ์พร้อมข้าวไร่ยังหลงเหลือผลผลิตให้เก็บเกี่ยวต่อเนื่อง แตงไข่เข้ แตงเปรี้ยวสีเหลืองกร้านยังห้อยแขวนอยู่กับเถาที่พันเลื้อยกิ่งไม้แห้ง ฟ่างและเม็ดเดือยหลงเหลือประปรายหลังฤดูเก็บเกี่ยว เดินมาอีกสักครึ่งทาง เดิน ทางที่เคยแคบเริ่มกว้างขึ้น จนมาถึงถนนดินซึ่งกว้างราวๆสี่เมตร เป็นเส้นเชื่อมต่อระหว่างบ้านแหลมนอก กับบ้าน’ปลายคลองกะทิ้ง’ สภาพเป็นถนนดิน มีคูระบายน้ำริมทางกับมีร่องรอยการซ่อมขุดปรับแต่งยังใหม่ๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าเข้าสู่เขตที่อยู่ของคนมุสลิมมลายูบ้านแหลมนอกซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าชื่อในภาษามลายูเรียกว่าอย่างไร แต่มีมัสยิดชื่อ’ตันจุง’ ซึ่งตั้งอยู่ตรงทางแยกที่จะมุ่งไปบ้านปลายคลองกะทิ้ง เข้าเขตคนมลายูจะพบเห็นนาข้าวซึ่งอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพอดี ที่นี่ใช้วิธี’เก็บข้าว’โดยใข้อุปกรณ์ที่เรียกว่า”แกะ” เก็บทีละรวงเช่นกันกับการทำข้าวไร่ ข้าวนาในอดีตของคนไทยแถบ ชุมพร ระนอง พังงา สวนหมากต้นสูงลิบลิ่ว เพราะปลูกถี่ทำให้ต้นหมากต้องแข่งกันขึ้นหาแสงอาทิตย์ ต้นที่ขึ้นช้ากว่าก็จะแคระเกร็นไม่เติบโต ทว่าไม่ตาย แต่ก็อยู่ต้องอยู่แบบโดนแช่แข็งประมาณนั้น คนทำสวนหมากที่นี่ค่อนข้างจะมีฐานะดี ราคาหมากแห้งที่นี่แพงกว่าที่เมืองไทย เล่ากันว่ามีผู้ค้าในหมู่บ้านเป็นผู้รวบรวมหมาก แล้วพ่อค้ารายใหญ่จากมะริดจะมารับซื้ออีกต่อหนึ่ง แล้วก็ส่งต่อไปยังอินเดีย หมากจากประเทศไทยก็ส่งมารวบรวมที่มะริดก่อนเช่นกัน เรียกได้ว่าเมืองมะริดเป็นสถานีค้าหมากก็ว่าได้ พืชอื่นๆก็มีพวก กะท้อน ขนุน มะม่วงมุด มะมุด มะพร้าวต้นสูงลิบ และมะม่วงหิมพานต์ต้นเก่าแก่รูปทรงต้นคดงอตามอายุขัย คนไทยแถบนี้เรียก “ยะโห้ย” หรือ “ยาโห้ย” ส่วนคนไทยมุสลิม(ไทยปักษ์ใต้พูดใต้สำเนียงคล้ายทางพังงา) ซึ่งมีอยู่สามสี่ชัมชนแถว ‘แม๊ะปูเต’ ‘หาดยาว’ ‘ทรายแดง’ จะเรียกมะม่วงหิมพานต์ว่า “เน็ดท้าย” คำว่า’เน็ด’ คงเพี้ยนมาจากคำว่า ‘เมล็ด’ ส่วนคำว่า’ท้าย’ ก็คงหมายถึงผลไม้ที่มีเมล็ดอยู่ส่วนท้ายของผลนั่นเอง
เดินมาได้ครึ่งทาง ‘มะกึ๋ย’ลูกชายของเราซึ่งตอนยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ๒ และเราก็พาเขาไปร่วมทริปเดินทางด้วย เกิดรู้สึกเบื่อการเดิน บางครั้งก็บ่นว่าปวดขา บางทีเขาก็แวะชมนั่นชมนี่ริมทางตามประสาเด็กชาย จนทำให้ตกท้ายห่างขบวนอยู่เนืองๆ ฉันกับ’ลุงเล็ก’ต้องผลัดกันให้เขาขี่หลัง ระหว่างทางเราเจอ’กาบหมาก’ หรือบางที่ก็เรียก”ดกหมาก” คือทางของต้นหมากแห้ง ที่ร่วงหล่นจากต้น ฉันเก็บมันมาทำเลื่อน ให้ลูกชายนั่งบนกาบหมาก ฉันฉวยส่วนที่เป็นปลายขึ้นบ่าแล้วออกแรงลาก ลูกชายรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน บางครั้ง’เลื่อนกาบหมาก’ลากผ่านหลุมบ่อ หินลูกรังทำเอาผู้โดยสารตกจากเลื่อนบ่อยครั้ง เป็นพาหนะที่ให้ความสนุกแต่เสี่ยงต่อการปวดก้นเป็นที่สุด.
*ทริปเดินทาง มลิวัลย์ – บกเปี้ยน – ทุ่งพี – คลองเข้ ๒๕๕๙