ชาวมอแกนส่วนใหญ่ยังใช้ชื่อเป็นภาษามอแกน ซึ่งอาจจะฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูหรือสะกดยากสำหรับ
คนที่ใช้ภาษาไทย แต่ชื่อเหล่านี้ก็มีความหมายที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต เพราะชาวมอแกนนิยมนำชื่อ
จากธรรมชาติที่คุ้นเคยมาตั้งเป็นชื่อลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นชื่อปลา หอย หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ บ้างก็ตั้งชื่อตามต้นไม้
ผลไม้ หรือดอกไม้ที่อยู่ในป่า บ้างก็ตั้งชื่อโดยหวังว่าลูกๆ จะได้มีบุคลิกหรือความสามารถตามชื่อนั้นๆ อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น
ภาษามอแกน | คำแปล | เพศ | นัยของชื่อ |
ก่อปัง | ผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง | หญิง | แม่ของก่อปังชอบกินผลไม้ชนิดนี้ |
ก่อลาย | หอยเบี้ย | หญิง | เล็กและมีลวดลายสวยงาม |
กี่ปิ้ง | ปูขนาดเล็กชนิดหนึ่ง | หญิง | เล็กกะจ้อยร่อย เล็กน่ารัก |
ต่าบู | ปลาบู่ | ชาย | กลมกลืนกับธรรมชาติ ปรับตัวได้ดี |
นาโง้ง | นกทะเลชนิดหนึ่ง | ชาย | เก่งในการหาปลาและบินได้อย่างสง่างาม |
บีต้วก | ดวงดาว | หญิง | สว่างเสมือนแสงดาวสุกสกาวกลางค่ำคืน |
โล่มด | หอยมุกจาน | ชาย | สง่าและงดงาม มีค่าเหมือนหอยมุกจาน |
ส่วนชาวมอแกลนและชาวอูรักลาโว้ย รวมทั้งชาวมอแกนรุ่นใหม่นิยมตั้งชื่อลูกเป็นภาษาไทย เพื่อไม่ให้
รู้สึกว่ามีชื่อที่เชยหรือมีชื่อเรียกที่แปลกหูแตกต่างไปจากคนอื่นทั่วไป และไม่ต้องการให้ลูกหลานถูกล้อเลียนหรือ
ดูถูกจากคนภายนอก ส่วนหนึ่งจะตั้งชื่อตามตัวละครในโทรทัศน์เพราะคิดว่าเข้ากับสมัยนิยม ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย
เพราะว่าชื่อตามภาษาท้องถิ่นนั้นทั้งไพเราะ มีความหมาย และมีอัตลักษณ์ที่ทำให้สามารถสืบสาวรากเหง้า
ทางวัฒนธรรมได้ ดังนั้น จึงควรจะสร้างความภาคภูมิใจให้คำและความหมายในภาษาท้องถิ่นและมีการรื้อฟื้น
การตั้งชื่อที่เป็นภาษานั้น.
ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรม ร้อยเรื่องราวชาวเล / ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ /อ.นฤมล อรุโณทัย