ชาวอูรักลาโว้ยนับถือศาสนาอะไร

ชาวอูรักลาโว้ยนับเป็นชาวเลกลุ่มที่มีความหลากหลายทางศาสนามากที่สุดในขณะที่ชาวมอแกนส่วนใหญ่
นับถือวิญญาณนิยม (animism) โดยนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณบรรพบุรุษ วิญญาณในธรรมชาติฯลฯ
ชาวมอแกลนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและวิญญาณนิยม แต่เมื่อเสียชีวิตลงก็ยังคงนิยมฝังศพแทนที่จะใช้
วิธีเผาศพแบบชาวพุทธทั่วไป ชาวอูรักลาโว้ยมีทั้งส่วนที่ยังนับถือวิญญาณนิยม ส่วนที่นับถือศาสนาพุทธ (แต่ก็ยังคงใช้วิธีฝังศพเช่นเดียวกัน) ส่วนที่นับถือศาสนาอิสลาม และส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์

พิธีปราจั๊ก ชาวอูรักลาโว้ย หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ภาพโดย ชาญวิทย์ สายวัน

ชาวอูรักลาโว้ยในทุกชุมชนมี“หลาดาโต๊ะ” หรือศาลที่ประดิษฐาน รูปเคารพซึ่งถือเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ
หรือผู้ปกปักรักษาพื้นที่ ชาวอูรักลาโว้ยให้ความเคารพศาลนี้และประกอบพิธีกรรมตามธรรมเนียมประเพณี
เป็นประจำ ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์กับชาวไทยพุทธในชุมชนใกล้เคียงหรือเมื่อมีพระสงฆ์
ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะเข้ามาชักชวนให้รับนับถือศาสนาพุทธชาวอูรักลาโว้ยก็จะซึมซับเอาวัฒนธรรมในศาสนา
พุทธเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ชาวอูรักลาโว้ย ที่เกาะสิเหร่ซึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.2506
ได้เห็นพระธุดงค์รูปหนึ่ง คือพระมงคลวิสุทธิ์ (หรือหลวงปู่สุภา กันตสีโล) เดินทางมาปักกลดในบริเวณป่า
ใกล้หมู่บ้านเกาะสิเหร่ ในขณะนั้นชาวอูรักลาโว้ยผู้ที่เข้าไปเก็บหาอาหารในป่า ได้สังเกตเห็นคนนั่งสมาธิ
เลยตกใจและวิ่งหนี(เพราะคิดว่าเป็นผี) แต่พระรูปนั้นได้เรียกเข้าไปพูดคุย ในวันต่อ ๆ มาชาวอูรักลาโว้ย
จึงนำอาหารไปถวาย และช่วยกันสร้างกุฏิหลังเล็กถวายให้บริเวณใกล้หมู่บ้าน และต่อมาก็พัฒนาจนเป็น
วัดเกาะสิเหร่ ชาวอูรักลาโว้ยได้เข้าไปช่วยลงแรงหล่อพระนอน ทำศาลาบนเนินเขา พระมงคลวิสุทธิ์ยังได้
แนะนำให้ชาวอูรักลาโว้ยนับถือศาสนาพุทธ และท่านก็ได้ให้ความเมตตาชาวอูรักลาโว้ยเกาะสิเหร ่
เปรียบเสมือนเป็นลูกเป็นหลาน (มณีประมงกิจ, สัมภาษณ์, 11 ธันวาคม 2550)

พิธีปราจั๊ก ชาวอูรักลาโว้ย หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ภาพโดย ชาญวิทย์ สายวัน


ชาวอูรักลาโว้ยหลายชุมชนในจังหวัดตรังและสตูลนับถือศาสนาอิสลาม และส่วนหนึ่งก็ระบุตนเองว่า
เป็นไทยมุสลิม ไม่ใช่ชาวเลอีกต่อไป ภาษา พิธีกรรม และขนบประเพณีของชาวเลก็ปรับเปลี่ยนเป็นของ
ชาวไทยมุสลิม ส่วนศาสนาคริสต์นั้น ก็เริ่มมีการนับถือกันในบางหมู่บ้านในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากการเข้ามา
แนะนำช่วยเหลือของมิชชันนารีเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้ว หลังเหตุการณ์สึนามิก็มีองค์กรศาสนาคริสต์
เข้ามาช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย เครื่องมือทำมาหากิน และแนะนำให้ชาวอูรักลาโว้ยหันมานับถือศาสนาคริสต์
ดังนั้น ชาวอูรักลาโว้ยจึงเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางศาสนามากกว่าชาวมอแกนและมอแกลน

[ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล]

มอแกนเกาะเหลา จ.ระนอง /ภาพโดย ศักดิ์ชัย แสงดี