แม้ว่าชาวมอแกลนจะไม่ได้เดินทางออกทะเลนาน ๆ และไกล ๆ แบบชาวมอแกนและอูรักลาโว้ย แต่ในสมัยก่อนก็มีการอพยพโยกย้ายไปตามที่ต่าง ๆ บ่อยครั้ง ไม่ค่อยอยู่ติดที่แม้ว่าจะมีหมู่บ้านที่ตั้งหลักปักฐานกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลในจังหวัดพังงา
จากประวัติชีวิตของตาเงาะ เน่งเปีย ผู้เฒ่ามอแกลนอายุ 80 ปีจากบ้านหินลูกเดียว จังหวัดภูเก็ต เราจะสามารถจินตนาการเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมอแกลนในสมัยก่อนได้–พ่อของตาเงาะเป็นคนจีน แม่เป็นมอแกลน สมัยนั้นมีการปฏิสัมพันธ์และการแต่งงานระหว่างกลุ่มอยู่บ้าง ตาเงาะเกิดที่บ้านเหนือหรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าบ้านหินลูกเดียวซึ่งเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้วมีบ้านอยู่ประมาณ 20 กว่าหลังคาเรือนอยู่ริมฝั่งทะเลบริเวณป่าชายเลน บ้านเหล่านี้ยกเสาสูง เวลาไปไหนมาไหนใช้เดินทางโดยทางเรือ
สมัยตาเงาะเด็กๆ พ่อแม่ย้ายไปย้ายมาหลายที่ ตอนที่อายุประมาณ 10 กว่าปี กุ้งมังกรยังราคาตัวละ2-3 บาท และส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครซื้อ จะหามากินเองมากกว่า ตาเงาะบอกว่าสมัยก่อนการทำมาหากินทำได้ง่ายเพราะตามชายฝั่งทะเลมีของกินอุดมสมบูรณ์ เงินนั้นหายากแต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้มากนัก เอาไว้ซื้อของจำเป็นต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ในครัว เมื่อเป็นวัยรุ่นและเป็นหนุ่มเคยทำอาชีพประมง ดำหอย ตกปลา สมัยก่อนมอแกลนดำน้ำ จะใช้เพียงแว่นดำน้ำเล็ก ๆ แล้วก็ดำลงไปประมาณ 6-7 วาก็มีสัตว์ทะเลชุกชุมแล้ว ตาเงาะเคยไปทำไร่ข้าวที่ในยางและไปทำแร่ที่ตะกั่วป่าด้วย
ชีวิตของตาเงาะชี้ให้เห็นว่าวิถีการดำรงชีพของชาวมอแกลนมีหลากหลาย ทั้งหากินทางทะเล ทำไร่ข้าว รับจ้าง ฯลฯ ชาวมอแกลนมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ มีระบบพึ่งพาอาศัยกัน และการแต่งงานข้ามกลุ่มก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา ในสมัยก่อน ทะเลมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และไม่ค่อยมีกลุ่มอื่นๆ ที่เก็บหาหรือทำประมงในทะเล ชาวเลทั้งสามกลุ่มจึงเป็นเหมือนกับลูกทะเลอันดามันที่อยู่อาศัยอย่างไม่ต้องแย่งชิงทรัพยากรกับผู้ใด
[ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล / ศูนย์มานุษยวิทยาฯ /อ.นฤมล อรุโณทัย]