ชาวมอแกลนยังมีนิทานหรือตำานานเก่า ๆ เหลืออยู่บ้างหรือไม่?

  • เนื่องจากสังคมชาวเลเป็นสังคม “มุขปาฐะ” หรือสังคมที่ไม่มีตัวอักษรเขียน ดังนั้นคำสอน คำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ มักจะถูกถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาโดยผ่านการบอกเล่าตำนาน นิทาน หรือเพลงร้องจากรุ่นสู่รุ่นในสมัยก่อนที่ชุมชนชาวมอแกลนยังไม่ได้รับสื่อสมัยใหม่มากนัก ก็มีการเล่านิทานเหล่านี้ให้ลูกหลานฟังซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่สอดแทรกคำสอนหรือหลักคิดต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ดำรงชีพอย่างมีสติ
  • ชาวมอแกลนมีนิทานเรื่อง “เกาะเหา” ที่สะท้อนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ อันที่จริงแล้ว หลายวัฒนธรรมมีเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติและน้ำท่วม ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจถึงความไม่แน่นอนของธรรมชาติ และการที่มนุษย์จะต้องสำนึกว่าสังคมมนุษย์เราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกัน นิทานเรื่อง “เกาะเหา” มีดังนี้ “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว หลังเกิดภัยพิบัติมีแผ่นดินผุดขึ้นมาจากทะเล ชาวมอแกลนเรียกเกาะแห่งใหม่นี้ว่า “บุโล่ย”หรือที่แปลว่า “เหา” ต่อมาเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและมีน้ำทะเลท่วมแผ่นดิน ผู้คนต่างหนีขึ้นไปอาศัยในถ้ำที่อยู่บนเกาะนี้ คนที่ปีนขึ้นมาบนเกาะไม่ทันก็กลายเป็นเต่าและปลาพะยูนไปในที่สุด จนเมื่อน้ำทะเลลดลงผู้คนก็แยกย้ายกันออกไปจากเกาะแห่งนี้ ข้าง ๆ “เกาะเหา” มีเกาะเล็ก ๆ ชื่อ “เกาะผี” ซึ่งก็เป็นเหมือนกับสมอที่คอยยึด “เกาะเหา” เอาไว้”
  • นอกจากนี้ ยังมีนิทานเรื่อง “ผีหลังโวง หรือผีหลังโหว่” ที่เล่ากันว่า “มีหญิงคนหนึ่งมาตะโกนร้องเรียกคนในหมู่บ้านมอแกลน และคนบนบ้านเอ่ยตอบมาว่าให้ขึ้นบ้านก่อน เพราะค่ำมืดแล้ว แต่หญิงคนนั้นบอกว่าขึ้นบ้านไม่ได้หรอกเพราะหลังฉันโหว่! คนในบ้านจึงตอบไปว่าต่อมาไม่ต้องมาบ้านนี้แล้วนะ จะทำบุญไปให้” นิทานเรื่องนี้ใช้เป็นกุศโลบายเพื่อสอนให้เด็ก ๆ ให้เข้านอนแต่หัวค่ำ ไม่ออกไปเล่นซุกซนในยามค่ำคืน

    ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล ร้อยเรื่องราวชาวเล / อ.นฤมล อรูโณทัย /ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ 2557
ภาพอาวุโสชาวมอแกลน จากหนังสือทักษณะวัฒนธรรมชาวเล