Skip to content
- การติดต่อปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชนอื่น ๆ มาแต่เนิ่นนาน ทำให้วัฒนธรรมของชาวมอแกลนมีการผสมผสานไปอย่างมากเมื่อเทียบกับชาวมอแกนและอูรักลาโว้ย
- ภาษามอแกลนมีการหยิบยืมคำจากภาษาไทยไปใช้เป็นจำนวนมาก และในปัจจุบันก็หาคนที่พูดภาษามอแกลนได้ยากขึ้น ชุมชนมอแกลนบางแห่งไม่พูดภาษาดั้งเดิมเลย แต่หันมาพูดภาษาไทยปักษ์ใต้ ดังที่กล่าวแล้วว่าชาวมอแกลนกลายเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาของพื้นที่แถบพังงาและภูเก็ตตั้งแต่ยุคการทำเหมืองแร่การเริ่มนำมะพร้าวและยางพารามาปลูกเป็นสวนขนาดใหญ่ในพื้นที่ และการพัฒนารูปแบบการประมงที่ใช้เรือหัวโทงติดเครื่องยนต์แทนเรือแจวด้วยแรงคน หรือใช้ใบพึ่งแรงลม
- ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้กระบวนการผสมผสานวัฒนธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วคือระบบการศึกษาภาคบังคับโรงเรียนต่าง ๆ ในแถบนี้ตั้งขึ้นมานานแล้ว บางแห่งไม่ต่ำกว่า 100 ปี บางโรงเรียนเริ่มจากเป็นเพิหลังคามุงจากตั้งอยู่บนพื้นทราย หรือเป็นโรงเรียนที่ประชาชนในท้องถิ่นสร้างขึ้น แล้วทางราชการรับเข้ามาอยู่ในระบบในภายหลัง เด็ก ๆ ชาวมอแกลนส่วนใหญ่เรียนร่วมกับเด็กอื่น ๆ ในท้องถิ่น เพราะชุมชนมอแกลนมักจะมีขนาดไม่ใหญ่นักและอยู่ใกล้เคียงชุมชนไทยหรือมุสลิม ที่ผ่านมา เด็กมอแกนไม่ค่อยได้เรียนหนังสือเพราะต้องติดเรือพ่อแม่ออกไปทำมาหากิน เร่ร่อนไปนาน ๆ ทั้งครอบครัว ส่วนเด็กมอแกลนนั้น ส่วนใหญ่มีบ้านและตั้งหลักแหล่งอยู่กับที่มากกว่า จึงเข้าสู่ระบบโรงเรียนมากกว่า สำหรับเด็กอูรักลาโว้ยนั้น เนื่องจากชุมชนมักจะมีขนาดใหญ่ โรงเรียนจึงมักจะเป็นโรเรียนสำหรับเด็กชาวอูรักลาโว้ยโดยเฉพาะหรือเป็นโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวอูรักลาโว้ย จึงมีโอกาสเรียนร่วมกับเด็กไทยและชาติพันธุ์อื่น ๆ น้อยกว่า
- ในปัจจุบัน ชาวเลทั้งสามกลุ่มได้มีโอกาสเรียนสูงขึ้น กระบวนการผสมผสานทางวัฒนธรรมจึงเข้มข้นขึ้นเนื่องจากไม่ค่อยมีหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมมากนัก
ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเล ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธรฯ อ.ฤมล อรุโณทัย
Post Views: 15