ความพร่องที่เกาะช้าง

บทความโดย ฟองเวลา

ทั้งชั้นปอ.๔ มีนักเรียน ๕ คน เพื่อนสนิทของเด็กชายกาย จึงเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นปอ.๔ ด้วยกัน ชื่อเด็กชายหยุ่น ประมงกิจ หยุ่น เป็นเด็กมอแกนจากหมู่บ้านด้านทิศเหนือของเกาะ ในตอนเช้าเมื่อแต่งชุดนักเรียนเสร็จ’กาย’จะเดินออกจากบ้านซึ่งตั้งอยู่ในสวน’กาหยู'(มะม่วงหิมพานต์)มายังถนนคอนกรีตและหยุดรอ มันเป็นเวลาเดียวกันกับที่’หยุ่น’และเพื่อนนักเรียนชาวมอแกนกว่า ๔๐ ชีวิต เดินเท้าจากท่าเรือด้านทิศตะวันออกของเกาะเพื่อไปยัง ‘โรงเรียนบ้านเกาะช้าง’ผ่านมาถึงพอดี บ้านพักของ’กาย’ตั้งอยู่กึ่งกลางของเส้นทางนี้ เมื่อเข้าสมทบขบวนแถวเดินทางแล้ว ทั้งคู่ก็มีเรื่องพูดคุยกันอย่างไม่จบสิ้นจนกว่าจะถึงจุดหมาย

ภาพโดย ฟองเวลา

แม้ว่าทางโรงเรียนจะว่าจ้าง’รถซาเล้ง’ ให้ช่วยทำหน้าที่รับ-ส่งเด็กนักเรียนชาวมอแกนจากท่าเรือมายังโรงเรียนซึ่งมีระยะทางกว่า ๒ กิโลเมตร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ ทั้งนี้คุณครูที่โรงเรียนบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กๆขาดเรียนบ่อยคือการเดินทางที่ยากลำบาก ปีที่ผ่านมาเด็กนักเรียนชาวมอแกนต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านข้ามเนินเขาสองลูกด้วยระยะทาง ๔ กิโลเมตรเศษเพื่อมาเรียนหนังสือ “สงสารลูก ..มันยังเล็กเกินเดินไม่ไหวหรอก” แม่ของเด็กมอแกนคนหนึ่งกล่าว เทอมนี้มูลนิธิแห่งหนึ่งสนับสนุนงบประมาณจ้างคนมอแกนในหมู่บ้าน ให้คอยทำหน้าที่ขับเรือรับ-ส่งนักเรียนจากหมู่บ้านมายังท่าเรือซึ่งต้องอ้อมแหลม’เกาะทรายแดง’ด้านเหนือของเกาะ อัอมมายังสะพานเทียบเรือด้านทิศตะวันออก รวมระยะทางเกือบ ๕ กิโลเมตร เมื่อถึงฝั่งแล้วเดินทางต่อด้วยมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่โรงเรียนว่าจ้างไว้ ทั้งโรงเรียนมีนักเรียน ๘๔ คน เกินครึ่งเป็นเด็กชาวมอแกน …หากไม่มีนักเรียนมอแกนมาเรียนหนังสือโรงเรียนนี้อาจต้องยุบตัว?? …การเดินทางไปโรงเรียนในเช้าที่อากาศสดใสก็นับเป็นความรื่นรมณ์อย่างหนึ่ง แต่หยุ่นและเด็กโตก็มักจะเดินเท้าจากท่าเรือไปตามถนนคอนกรีตสายแคบไปจนถึงโรงเรียนเพื่อเสียสละพื้นที่ให้เด็กเล็กระดับอนุบาล ปอ.๑ และปอ.๒ ได้นั่งรถซาเล้งพ่วงข้าง จำนวนนักเรียนมีมากเกินกว่าที่รถพ่วงข้างจะรับ-ส่งได้หมดในเที่ยวเดียว ผู้คนบนเกาะที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านไปมาก็มักจะเอื้อเฟื้อด้วยการจอดรับเด็กมอแกนไปส่งที่ทางแยกเข้าโรงเรียนเช่นกัน และเช่นกันกับเช้าวันที่ผ่านมา ‘ย๊ะ’หญิงชาวมอญขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านในสวนยางพาราของนายจ้างที่เธอและสามีมาเป็นแรงงานอยู่นานหลายปีแล้วเพื่อไปส่ง’เด็กหญิงอรชร’ผู้เป็นลูกสาวไปเข้าเรียน ระหว่างทางเธอจะจอดรถรับ’เด็กหญิงมีนา’และ’เด็กหญิงจุ๋มจิ๋ม’เพื่อนร่วมชั้นเรียนชาวมอแกนของลูกสาวไปส่งที่โรงเรียนด้วย

ภาพโดย ฟองเวลา

คุณครูเล่าว่าทั้งโรงเรียนมีนักเรียนสัญชาติไทยเพียงสิบกว่าคน เป็นเด็กลูกหลานแรงงานประเทศเพื่อนบ้านสิบกว่าคนเช่นกัน ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นประชากรนักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนนั้นเป็นลูกหลานชาวมอแกน เช้าวันนี้หลังเลิกจากแถวเคารพธงชาติแล้วครูผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่รักษาการแทนผู้อำนวยการโรงเรียนที่ติดราชการบนฝั่ง ได้จัดให้นักเรียนชั้นปอ.๔, ๕ และ ๖ เรียนรวมกัน ปอ.๒ และ๓ ก็รวมอยู่อีกส่วน ส่วนเด็กปอ.๑ ยังต้องอยู่ที่ห้องตัวเองโดยมี’พี่เดือน’นักการภารโรง ซึ่งรับหน้าที่ขับซาเล้งรับ-ส่งเด็กนักเรียนชาวมอแกนด้วย มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กปอ.๑ วันนี้พี่เดือนชวนเด็กๆชั้นปอ.๑ ฝึกทำโพสต์การ์ดวันแม่ ให้เด็กชั้นอนุบาล.๑ และ๒ ฝึกวาดรูประบายสีอยู่ที่ชั้นล่างของบ้านพักครูชื่อ’วิมานดิน’ เพราะวันนี้มีคุณครูติดราชการบนฝั่ง ๓ คน ทำให้เหลือครูคอยดูแลเด็กเพียง ๒ เท่านั้นที่คอยวิ่งรอกตั้งแต่ชั้นอนุบาล.๑ จนถึงชั้นปอ.๖ ยังดีที่ได้เจ้าหน้าที่ธุรการและนักการภารโรงมาช่วยแบ่งเบา สำหรับเด็กโต เช้านี้ครูให้โจทย์ไปเขียนเรียงความหัวข้อ’พระคุณแม่’ เด็กๆแยกย้ายกันนั่งเป็นกลุ่ม ก้มหน้าเขียนอย่างขะมักเขม้น บ้างเขียนไปอ่านทวนซ้ำไป ‘เด็กชายกาย’นั่งจับกลุ่มกับเพื่อนผู้ชายปอ.๔ และปอ.๕ เขาชะโงกชะเง้อมองสมุดของ’เด็กชายหยุ่น’เพื่อนชาวมอแกนบ่อยๆ ขณะที่ใช้ท่อนแขนปิดป้องหน้ากระดาษของตัวเองเหมือนไม่อยากให้ใครเห็น หยุ่นเขียนหนังสือไม่สวยนักแต่ก็พอดูได้และไม่มีคำผิด หยุ่นเขียนเรียงความได้เกือบเต็มหน้ากระดาษระหว่างที่เขียนก็อ่านทวนเสียงดังอย่างมั่นใจ ส่วนเรียงความของเด็กชายกาย เพิ่งจะเขียนได้เพียงครึ่งหน้ากระดาษ โดยใช้ตัวสะกดผิดหลายคำ และข้อความส่วนใหญ่คล้ายลอกของเพื่อนมา ขณะนั่งเขียนเขาดูลุกลี้ลุกลนขาดสมาธิ …คล้ายจะเอียงอาย ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าตอนเช้าขณะเดินเท้าไปโรงเรียน เมื่อถาม’กาย’ว่าพ่อแม่ประกอบอาชีพอะไร? ‘กาย’มีมีอาการอึกอัก ก่อนจะตอบว่าแม่ย้ายไปอยู่บนฝั่งโดยพาน้องไปด้วย แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ส่วนพ่อเมื่อแยกทางกับแม่แล้วก็หายไปโดยไม่ติดตกลับมาเลย กายจึงตอบไม่ได้ว่าพ่อแม่ประกอบอาชีพอะไร ‘กาย’อาศัยอยู่กับยายและลูกๆของป้า

ภาพโดย ฟองเวลา

ในจำนวนนักเรียนทั้งโรงเรียน เกือบทั้งหมดไม่มีสัญชาติไทย …แต่ครอบครัวที่ขาดพร่องเรื่องสิทธิในสัญชาติก็มีสมาชิกอยู่พร้อมหน้าครบถ้วน ส่วนเด็กที่มีสัญชาติไทยสมบูรณ์อย่าง’เด็กชายกาย’ กลับขาดทั้งพ่อและแม่ ….หรือบางที ธรรมชาติได้เฉลี่ยแล้ว ไม่ให้ผู้คนได้เปรียบ เสียเปรียบกันมากจนเกินไป!!! บางคนที่ดูเหมือนมีล้นทั้งอำนาจและทรัพย์สิน ยามข่มตาหลับในค่ำคืน บางทีในจิตใจกลับรู้สึกเปลี่ยวเหงาแห้งโหย ตรงข้ามกับเสียงกรนอย่างผ่อนคลายที่ดังลอดช่องแตกของฝาผนังไม้ไผ่ขัดแตะ เจ้าของเสียงอาจกำลังปริ่มสุข สัมผัสภวังค์ดื่มด่ำแดนวิมานอยู่ก็เป็นได้ ใครจะรู้. ……………………………..๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๐………………………….