ครูหมอในเรื่องแม่เล่า

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

“เวลาออกชื่อก็ออกชื่อพ่อแม่ ตายายก่อน ให้ช่วยบอกกล่าวเชิญเจ้าที่ พ่อตาหลวงแก้ว พ่อตาขุนเล พ่อตาพระยางค์ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา มารับสมารางวัลที่ลูกหลานนำมาเซ่นไหว้ตามที่ได้สัญญา เอ่ยชื่อทวดเจาะ ทวดนิ่มก่อน ก็ไม่รู้นะแต่เห็นเวลาแม่แกไหว้ แกเอ่ยแบบนั้น” แม่พูดไล่หลังเป็นเชิงกำชับแนวปฏิบัติ ขณะผมหิ้วกระสอบปุ๋ยที่ภายในบรรจุหัวหมูต้มแล้ว ไก่ต้มทั้งตัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ต้ม ขนมขาว ขนมแดง เหล้าขาวหนึ่งขวดพร้อมไห้เปล่าใบเล็ก กับหมากพลูอีกห้าคำ ไปวางบนรถเครื่องพ่วงข้าง เพื่อจะขนของไหว้ทั้งหมดไปทำการไหว้เจ้าที่ประจำสวนจาก

ภาพโดย ฟองเวลา

แม่ถือปฏิบัติเช่นนี้มาหลายปี ทุกครั้งที่พ่อค้ามาเหมาตัดยอดจากในสวน นั่นทำให้แม่มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัว แม่ไปเอ่ยปากสัญญากับเจ้าที่เจ้าทางไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่มิอาจทราบ ก็คงจะเป็นเช่นพิธีปฏิบัติที่ผูกโยงวิถีผู้คนบ้านป่าเข้ากับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อหลายปีก่อนแม่จะต้องใช้บริการคนที่เป็น’หมอ’ คนมีของ มีครูที่เชื่อกันว่าสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติได้ โดยจ่ายค่าราช ค่าเหนื่อยให้เป็นการตอบแทน แต่หลังๆ มานี้แม่จัดการแก้บนเอง แม่ว่ารำคาญ อาศัยจมูกคนอื่นหายใจไม่คล่อง แต่สองปีมานี้แม่ชรา ผอมแห้งแรงน้อย ครั้นจะให้ต้องลงน้ำ ลงเรือ ขึ้นไปเดินย่ำโคลนเป็นได้นอนโรงพลาบาลอีกเป็นแน่ ผมเลยรับหน้าที่’แก้บน’แทนแม่เสียเอง
แม่ของแม่ชื่อยายพริ้ง ก็คือ”แม่เฒ่า” หรือยายของผม ส่วนแม่ของยายพริ้ง ชื่อยายหมา ก็คือทวดของผม ยายทวดหมาเป็นลูกของ’ทวดเจาะ’ ‘ทวดนิ่ม’ แม่ว่า ทุกครั้งที่’แม่เฒ่าพริ้ง’ เอ่ยคำแก้บน ก็จะเริ่มต้นด้วยการเอ่ยชื่อ’ทวดเจาะ’ ‘ทวดนิ่ม’ก่อนใครอื่น เล่าต่อๆกันมาว่า’ทวดเจาะ’ ‘ทวดนิ่ม’ เป็นหมอตำแย หรือคนแถวนั้นเรียกว่า “หมอแม่ทาน” วิชาเหล่านี้เป็นของมีครู ทุกปีจะต้องมีพิธีบูชาครู ‘ครู’ในศาสตร์เหล่านี้มักไม่มีตัวตนให้จับต้องได้ ทั้งนี้ก็คงเพื่อรักษา’สถานะศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง’ ไม่ให้ต้องเกลือกกลั้วมัวหมองกับกิเลสปุถุชน!

ภาพโดย ฟองเวลา

แม่นั้นเกิดไม่ทันรุ่นทวด ได้แต่ฟังเรื่องเล่าต่อมาเท่านั้น ‘ยายทวดหมา’ มีผัวชื่อ’ตาทวดวอน’ มาตอนหลัง’ทวดวอน’ได้รับสร้อยต่อท้ายชื่อเพิ่ม เนื่องจากทวดวอนก็เช่นผู้ชายชาวบ้านป่าทั้งหลาย ที่มีความเป็นนักเลงปืนผาหน้าไม้ไว้ล่าสัตว์ ยุคนั้นก็ไม่พ้นปืนไทยประดิษฐ์ ปืนแก็ปกระบอกยาว อัดแน่นด้วยดินปืน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะคำนวนส่วนผสมผิดสูตรหรือเปล่า วันหนึ่งนักเลงปืนอย่าง’ทวดวอน’ แรงระเบิดที่ผิดพลาดทำให้ลำกล้องส่วนโคนฉีกขาด ฉีกเอาแขนคนยิงรุ่งริ่งไปด้วย เมืองกระบุรียุคนั้นซึ่งก็คงถอยหลังไปราว 140-150 ปีเศษ ยังไม่มีสถานีอนามัยหรือสุขศาลา ต้องหาม’ทวดวอน’ลงเรือไปให้หมอฝรั่งตัดแขนให้ หมอฝรั่งก็อยู่ที่เมืองฝรั่ง แม่เล่ามาถึงตรงนี้ ผมก็พยามนึกเทียบเคียงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ เมืองฝรั่งที่ชาวบ้านเรียกขาน ก็คงหมายถึงอีกฝากฝั่งของแม่น้ำกระบุรี ตรงใต้สุดของแผ่นดินประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบัน คือตัวจังหวัดเกาะสอง หรือ*วิกตอเรียนพอยต์ในอดีต เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิอังกฤษ นั่นคือที่มาของชื่อ”วอนด้วน” เล่ากันว่า พอแขนก็ด้วนก็ไม่อาจจับปืนล่าสัตว์ได้อีก แกกลายเป็นคนธรรมะ ธรรมโม สำนึกในบาป สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกคืน กลายเป็นคนเคร่งในศีลในธรรม จะด้วยอานิสงใดสุดคาดเดา ทำให้แกรู้วันตายของตัวเอง เล่ากันว่าในวัยชราแล้ว วันหนึ่งแกสั่งลูกหลานว่าอย่าไปไหน เดี๋ยวตีสามแกจะตาย แล้วเมื่อถึงเวลาตีสามของวันนั้นแกก็ตายจริงๆ โดยนอนหลับไปเฉยๆ
กลับมาที่ฝั่ง”พ่อเฒ่าทิม” พ่อของแม่ พ่อเฒ่าทิมเคยถูกเกณฑ์เป็นตำรวจในยุคเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง หน้าที่คือเข้าเวรเฝ้าใต้ถุนที่ว่าการอำเภอ แต่พ่อเฒ่าก็หนีเกณฑ์เสียอย่างนั้น พ่อเฒ่าทิม มีพ่อคือ’ทวดชู’ และแม่คือ’ทวดสาว’
ทั้งสองสายตระกูลเป็นคน’บ้านดอนกลาง’ ตั้งอยู่ใต้ตัว’เมืองกระ’ เดิมที คนรุ่นพ่อ-แม่ของฝ่าย’ทวดชู’ เป็นคนเมืองชุมพร ส่วน’ทวดเจาะ’ ‘ทวดนิ่ม’ สองพี่น้องหมอแม่ทาน เดิมเคยอยู่เมือง**’มลิวัลย์’มาก่อน ลงไปราวหนึ่งชั่วโมงเดิน หากจะลองเทียบเคียงปีพ.ศ. ช่วงอายุของ’ทวดเจาะ’ ‘ทวดนิ่ม’ ก็คงมีอายุอยู่ในราวข่วงปลายรัชกาลที่ 1 จนถึงยุคต้นรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญต่อสยามประเทศคือ การเปิดเสรีการค้า’สนธิสัญญาเบาริ่ง’ เป็นจุดปะทะของสายลมตะวันตกกับตะวันออกมาบรรจบกัน บีบให้สยามต้องเปลี่ยนแปลง เช่นกันกับ’ครูหมอ’ ที่มีฐานะเป็นสิ่งเหนือธรรมาติจับต้องไม่ได้ มาเป็นศาสตร์แบบหมอฝรั่ง ถือมีดหั่นแขนจน ‘ทวดวอน’ กลายเป็น”วอนด้วน” และ”ครู” ในอาคาร ที่ต้องไหว้เช้า ไหว้เย็น และไหว้อย่าง’ใส่พาน’ ในวันพิเศษ.
*วิกตอเรียนพอยต์ = ตัวจังหวัดเกาะสองในปัจจุบัน
**เมืองมลิวัลย์ เคยมีฐานะเป็นตำบล ในเขตปกครองมณฑลตะนาวศรี ของจักรวรรดิอังกฤษ มะลิวัลย์ตั้งอยู่เหนือวิกตอเรียพอยต์ ประมาณ 25 ไมล์ พื้นที่เหล่านี้คนเขตอาศัยของคนเชื้อสายไทยมาก่อน และชื่อหมู่บ้านบนเส้นทางยังเรียกตามหน่วยวัดระยะทางแบบอังกฤษ เช่น บ้านสามไมล์ บ้านเจ็ดไมล์(ที่ตั้งสนามบินเกาะสอง) บ้านเก้าไมล์ บ้านสิบไมล์ บ้านยี่สิบสองไมล์ และมลิวัลย์ตั้งอยู่ในตำแหน่งยี่สิบห้าไมล์ พอดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *