บทความโดย ฟองเวลา
มีวัสดุเก่าจำพวกเหล็กเส้น เหล็กกล่อง ที่เหลือจากงานสร้างซ่อมศาลาอาคารต่างๆของวัดอยู่จำนวนหนึ่ง ‘พระเจ้าเอ๋’ *(ถ้าเรียกตามศัทพ์ทางภาคกลางก็ต้องเรียกว่า “หลวงพี่เอ๋” แต่ทางใต้จะเรียกว่า”เจ้า” เช่น พี่เจ้า, น้าเจ้า, น้องเจ้า ลุงเจ้า ตาเจ้า ‘พระเจ้าเอ๋’ ในที่นี้จึงไม่ได้มีเชื้อสายราชวงศ์แต่ประการใด) เห็นว่าถ้าปล่อยไว้ก็จะผุกร่อนเสื่อมสภาพไปตามเหตุปัจจัย ว่าแล้วอย่ากระนั้นเลย ปรึกษาหารือกับ ‘พระเจ้าดำ’ สรุปเห็นพ้องว่าควรนำวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่มาลงมือสร้างส้วม สถานที่ปลดทุกข์ให้ญาติโยมที่มาทำบุญ เนื่องด้วยส้วมที่มีอยู่เดิมนั้นมีจำนวนน้อย เวลามีงานบุญสำคัญๆ ที่มีคนมาร่วมหลายคน ก็จะมีสภาพแออัด ….ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ขับถ่ายทุกข์ในเวลาที่ควร นับเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์!!
เศษวัสดุที่มีมันก็ไม่พอสร้างให้เป็นส้วมทั้งหลังหรอก แต่ก็ทำเท่าที่ทำได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรงงาน ทั้งพระ ทั้งคนอยู่วัดก็ช่วยกันทำ เมื่อขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่ศรัทธาของญาติโยมว่างั้นเถอะ!!
ว่าแล้ว’พระเจ้าเอ๋’ ก็ปักแนว หาระดับน้ำ เตรียมแนวเสาตอม่อ ผมก็ไม่ควรรีรอ เร่งขุดๆ คุ้ยๆ สามหลุม เร่งให้เสร็จ เหงื่อกาฬไหล หายใจไม่เต็มปอด เหนื่อยหอบ เหมือนใจจะขาด ตอนเร่งขุดก็นึกไปถึงสมัยวัยหนุ่มที่เคยเร่ร่อนเป็นคนงานก่อสร้าง หลุมแค่นี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ แต่ในวัยครึ่งร้อย บางทีเรื่องง่ายๆที่เคยทำได้ในวัยหนุ่มกลับกลายเป็นเรื่องยากเข็ญ
นึกย้อนมโนภาพไปในสมัยก่อนพุทธกาล ‘เจ้าชายสิทธัตถะ’ ก็มิได้บรรลุโสดาบันจากการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วใยเราจะต้องเร่งงานให้เสร็จตามใจนึกเช่นวัยหนุ่ม?? ว่าแล้ว จากที่เคยกำหนดไว้ในใจว่าหลุมเสาตอม่อ 3 หลุม ที่ควรเสร็จในช่วงเช้า ก็ลากเลยไปถึงช่วงบ่าย
บางทีการที่เราไม่สามารถเอาชนะขีดจำกัดของร่างกายในวัยที่เริ่มโรยรา ทั้งที่มันเคยทำได้ง่ายๆเมื่อก่อนหน้านี้ หากไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริง ก็พาลจะก่อให้เกิดบาดแผลในใจของคนวัยหนุ่มตอนปลายได้เหมือนกัน.