บทความโดย ฟองเวลา
เย็นวันหนึ่ง …ซึ่งคือไม่กี่วันมานี้เอง
“พาใบไม้ไปหาหมอตะ เห็นบ่นว่าเจ็บหัวหลายวันแล้ว” อา…ผู้ทำหน้าที่ผู้ปกครองแทนพ่อและแม่ ซึ่งต่างมีภาระหน้าที่อันเป็นข้อจำกัดที่ทำให้หน้าที่ตรงนี้ขาดตกไป เอ่ยขึ้นหลังจากผู้ถูกพูดถึงกลับมาจากโรงเรียน
คือเย็นวันที่เราอยู่พร้อมหน้ากันพอดี
“รู้สึกปวดตอนทำการบ้าน” ลูกอธิบายพฤติการณ์ของโรคเมื่อถูกถามจากพ่อ ระหว่างนั่งรถไปโรงพยาบาล ผู้พ่อถามลูกขณะในใจรู้สึกตำหนิตัวเองที่มีโอกาสอยู่กับบ้านสามวันแต่กลับไม่รู้ทุกข์สุขของลูก เกิดความรู้สึกแย่นิดหน่อย ‘เราไม่ถาม หรือลูกไม่อยากรบกวน?! …ระยะห่างของทางกายภาพไม่ควรเป็นเหตุแห่งการไม่รู้!!!
“หมอว่าพรือมั่ง?”
“โรคเครียด หมอบอกว่าอย่าจดจ่อเคร่งเครียดเรื่องการเรียนมากนัก เรียนแบบสบายๆ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น” ลูกตอบ
“หมอให้ยาไม๊?” ฝ่ายแม่ถาม
“ตอนแรกหมอจะจ่ายยาลดอาการเครียดนั่นแหละ แต่ลูกบอกว่าต้องกลับไปทำการบ้านต่อ หมอเลยไม่จ่ายยาให้”
“ที่ตั้งใจว่าจะเรียนจบเป็นคนจ่ายยา สงสัยต้องจ่ายยารักษาตัวเองก่อน” พ่อพูดยิ้มๆ ขณะขับรถกลับบ้าน
รู้ว่าคำแนะนำของหมอ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
แต่ไม่ง่ายนักสำหรับรถคันเล็กที่แบกความคาดหวังของตนอย่างหนักอึ้ง การควบคุมให้รถยังวิ่งอยู่ได้อยู่บนเส้นทางที่วาดหวังเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความมุมานะ ยิ่งใกล้จุดหมาย ยิ่งพบเจออุปสรรคและโจทย์ใหม่ๆซึ่งซับซ้อนขึ้น หลายโจทย์เป็นเรื่องของปัจจัยแวดล้อม นอกเหนือการควบคุมแห่งตน …..กลไกการแข่งขัน …ระบบพิเศษ และวัฒนธรรมแห่งการยกเว้น …เส้นสายบุญคุณและการตอบแทน
ไม่ต่างกับถนนไฮเวย์จากหัวเมืองชายขอบมุ่งเข้าสู่เมืองหลวง ยิ่งใกล้เมืองใหญ่ รถรายิ่งแน่น แม้จะมีการขยายช่องจราจรเพิ่ม!! สร้างทางยกระดับก็แล้ว!! รถเก่า รถเล็ก มักถูกเบียดขับหลุดขอบทาง หรือกว่าจะถึงจุดหมายก็แสนจะสะบักสะบอม
นี่ยังไม่นับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องหามาหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์
โรคเครียดไม่ใช่โรคติดต่อที่แพร่เชื้อทางอากาศ ไม่สามารถแพร่กระจายด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่ง ..แต่มันติดต่อกันทางความรู้สึก เมื่อเขารู้สึกได้ว่าตนทำหน้าที่รับผิดชอบได้ต่ำกว่าเกณฑ์อย่างน่าใจหาย สวนทางกับคะแนนเฉลี่ยในหน้าที่ของลูก ความเขม็งเครียดเกาะกุมเส้นประสาทจนมองเห็นเส้นเลือดบริเวณขมับโป่งปูด.