บทความโดย ฟองเวลา
…………ไม่กี่วันก่อน ได้เดินทางไปทำธุระบางอย่างที่จังหวัดพัทลุง โดยขอยืมรถยนต์ของพี่สาวขับไป มื้อเช้าของวันถัดมาในเมืองพัทลุง ร้านนั้นมีข้าวต้ม เกาเหลาและอีกสารพัดอาหาร รสชาติดีและราคาไม่แพง คนจ่ายค่าอาหารคือ’พี่ทัศนา’จากอำเภอท้ายเหมืองซึ่งไปที่นั่นด้วยภารกิจเดียวกันเดียวกัน ตามแผนการผมต้องเดินทางกลับเย็นนั้น แต่เพื่อนมิตรบางคนเอ่ยปากชักชวนให้เดินทางไป’ร่วมหารือ’ในประเด็นความอยู่รอดของภูมิภาคฯที่หาดใหญ่ ผมกับเพื่อนชื่อ’ไมตรี ‘นักพัฒนาจากพังงา จอดรถไว้ที่พัทลุงแล้วอาศัยรถของเพื่อนอีกคน ‘เอกนัฐ’ภาคประชาสังคมจากกระบี่ เดินทางต่อไปหาดใหญ่ ระหว่างมื้อเที่ยงที่หาดใหญ่’พี่ดุก’นักพัฒนาชุมชนรุ่นใหญ่นั่งคุยถึงเรื่องการปลูกพืชผักอยู่กับ’พี่พงษ์’ นักกฏหมายภาคประชาชนจากจังหวัดตรัง “คิดเอาเองว่ามันชอบน้ำ ผมเลยขุดสระให้มันปรากฏว่าไม่กี่วันลูกเป็ดก็ตายเรียบ” พี่พงษ์เล่าประสบการณ์ ผมเล่าให้ทั้งคู่ฟังว่าตัวเองกำลังเปลี่ยนที่นาแปลงเล็กหลังบ้านให้เป็นที่เลี้ยงเป็ดหลังจากแม่เลิกใช้พื้นที่เพราะแก่ชราเกินจะทำนาไหว พอรู้แผนการ’พี่ดุก’จึงเสนอว่าจะซื้อเป็ดให้ผมจำนวนหนึ่ง ‘พี่ปุ๊’ที่อยู่อำเภอรัฐภูมิ เลี้ยงเป็ดไข่ไว้หลายร้อยตัว บ้านพี่ปุ๊นั้นอยู่ติดกับ’เขาคูหา’ซึ่งเป็นแหล่งสัมปทานหินแกรนิตมานาน พี่ปุ๊กับชาวบ้านเขาคูหาต่อสู้คัดค้านการต่ออายุ’ประทานบัตรฯ’เพราะมันเหมืองหินสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและวิถีชาวชุมชน …นักสู้สามัญชนนั้น ไม่ได้มีความพร้อมในการเข้าสู่สนามการต่อสู้หรอก เกือบทุกคนล้วนถูกบังคับด้วยสถานการณ์ไม่ว่าเจ้าตัวจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และการต่อสู้ครั้งนี้มันกระทบระบบเศรษฐกิจครัวเรือนของพี่ปุ๊ เธอตัดสินใจทยอยขายเป็ดซึ่งกำลังออกไข่ และ’พี่ดุก’ก็แสดงความเอื้อเฟื้อทั้งต่อผมและพี่ปุ๊ในจำนวนสิบตัว ระหว่างเดินทางออกจากหาดใหญ่ ‘พี่ไมตรี’รู้เรื่องนี้เข้า จึงแสดงเจตนาขอร่วมสมทบ ด้วยการยื่นแบงค์พันให้ “ผมช่วยซื้อให้ห้าตัว”เขาว่า ผมปฏิเสธการรับโดยให้เหตุผลว่าแค่สิบตัวผมก็ไม่มีเวลาดูแลแล้ว สุดท้ายผลจากการเจรจาต่อรองเหลือแค่รับมาห้าร้อยบาท ค่ำมืดแล้วเมื่อผมคลำทางไปถึงเขาคูหา ‘พี่หนุ่ม’คู่ชีวิต’พี่ปุ๊’จับเป็ดสิบตัวใส่กระสอบปุ๋ยสามใบโดยเจาะรูให้เป็นช่องหายใจของเป็ด …….มี’พี่ปุ๊’คอยเป็นลูกมือช่วยเหลือ หลังกินมื้อค่ำที่เจ้าของบ้านเอื้อเฟื้อจัดให้เสร็จ ผมก็ออกเดินทางโดยมีเป็ดสิบตัวเป็นผู้โดยสาร ระหว่างทางผมง่วงมากจึงจอดรถนอนในปั๊มน้ำมันแถวสุราษฎร์ธานี กว่าจะไปถึงบ้านก็เป็นเวลาแปดโมงเช้าของวันใหม่ รวมเวลาแล้วผมต้องอยู่ในรถพร้อมกับเป็ดอีกสิบตัวเป็นเวลาเกินสิบชั่วโมง กลิ่นขี้เยี่ยวของเป็ดลอยอบอวลไปทั่วห้องโดยสารตามแรงลมจากเครื่องปรับอากาศในรถ ผมต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาปิดจมูกเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้โดยสารจนถึงที่หมาย ด่านตรวจทหารตรงรอยต่อจังหวัดต้องรีบอนุญาตให้ผมเดินทางต่อเมื่อเห็นผู้โดยสารสิบตัวในกระสอบ รวมทั้งไข่เป็ดสี่-ห้าใบและกล้วยสองหวีซึ่งเป็นของฝากจากเพื่อนที่ตำบล’นาขยาด’ โดยทัศนะส่วนตัวของผม การเป็นผู้รับนั้นจะทำให้เราค่อยๆอ่อนแอลง และโดยทั่วไปแล้วในจารีตแบบสังคมไทยผู้ให้ย่อมอยู่ในฐานะเหนือกว่า ..แข็งแรงกว่าอย่างน้อยก็ในขณะนั้น และมันนำไปสู่ความสัมพันธ์สูง-ต่ำทางสังคม บรรษัทที่ทำกำไรจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ประกาศมอบเงินเพื่อช่วยฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย!! นั่น..ไม่ใช่การให้หรอก แต่เป็นการ’ตักตวง’จากสังคมในอีกมิติ มิติที่ฝังจำเข้าในใจผู้คนผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนการให้ด้วยน้ำใสใจจริงของมิตรสหายอย่างเห็นอกเห็นใจกันนั้นเป็นคนละเรื่องกัน แต่กระนั้นก็ตามโดยทัศนะส่วนตัวแล้ว ยังเชื่อเสมอว่าการเป็นผู้รับนั้นจะทำให้เราค่อยๆอ่อนแอลง หลายครั้งเพื่อนมิตรอาจไม่เข้าใจว่าทำไมผมต้องมีปัญหากับการเป็น”ผู้รับ”นัก. [๓ มิถุนายน ๒๕๖๐]