บทความโดย ฟองเวลา
ว่าด้วยเรื่องสุขภาพนั้น สำหรับบางคนแล้ว ทางเลือกมีน้อย หรือกระทั่งไม่มีเลย!! ฉะนั้นอะไรที่ใกล้ตัวเป็นทางรอดก็ต้องคว้าไว้ ย้อนไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ที่ชุมชน’บ้านสิบไมล์’ หรือบางคนออกเสียงเป็น “สิบไม้” เขตจังหวัดเกาะสอง แผ่นดินใต้สุดของเมียนมาร์ ตรงข้ามจังหวัดระนอง ชุมชนนี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของคนเขื้อสายไทยปักใต้ และคนเชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ‘บังโซ๊ะ’ตั้งครอบครัวอยู่ที่นี่ มีอยู่คืนหนึ่งขณะนอนหลับ และฝันว่ามีคนมาบอกให้รับคาถาวิชา ต่อกระดูก และวิชาแก้พิษสัตว์ อีกไม่กี่วันต่อมา’บังโซ๊ะ’ ก็ถูกลองวิชา ‘งูพังกา’ตกลงมาจากกิ่งไม้ กัดเข้าที่ศีรษะบังโซ๊ะพอดี พิษงูพังกาอาจไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ก็สร้างแผลเน่าเปื่อยบนร่างกายได้ ในเมืองเกาะสองนั้นมีโรงพยาบาล แต่ระยะทางสิบไมล์บนอานจักรยาน ปั่นไปบนทางเกวียนนั้น ทำให้คนชุมชนบ้านป่าห่างไกล ไม่นิยมใช้บริการแพทย์สมัยใหม่ พลันบังโซ๊ะนึกถึงคาถาในความฝัน จึงท่องคาถาแล้วเอามือลูบหัวตัวเอง อาการจากพิษงูกัดก็ค่อยๆหาย ต่อมาในค่ำคืนหนึ่ง ‘บังเซ้’ น้องชายถัดจากบังโซ๊ะถูกงูกัด ดูจากรอยเขี้ยวและความรู้สึกปวดแปลบ ทำให้’บังเซ้’ เชื่อว่าเป็นงูเห่า “มึงหาญมั้ย?” บังโซ๊ะถามน้องชาย “เอาก็เอา ทำพรือได้ล่ะ” ตีสามของคืนนั้น แสงจากตะเกียงเจ้าพายุส่องให้เห็นงูเห่าตัวเขื่อง เลื้อยอย่างอ่อนแรงเข้ามา มันกัดซ้ำเข้าที่แผลเดิมของบังเซ้ แล้วเจ้างูก็เลื้อยหายไปในความมืด บังโซ๊ะบอกน้องชายว่า งูมันมาดูดพิษออกไปจากตัวบังเซ้ สำหรับเรื่องการ’ต่อกระดูก’นั้น บังโซ๊ะได้ลองวิชา โดยการจับลูกไก่เขวี้ยงจนขาหัก แล้วนำมารักษาโดยการใช้คาถาเป่าพ่น พร้อมกับใช้น้ำมันมะพร้าวที่ต้มเคี่ยวจากมะพร้าวงอกหน่อ ลูกไก่ตัวนั้นก็ค่อยๆหายเป็นปกติ นั่นเป็นที่มาของวิชาต่อเส้น ต่อกระดูกของบังโซ๊ะ รับรักษาคนตกทุกข์ได้ยาก ค่าหมอ ค่าวิชาก็แล้วแต่คนป่วยจะให้ ไม่มีก็ไม่เอา แต่’บังโซ๊ะ’ รักษาได้เฉพาะ 3 โรคข้างต้น เมื่อถึงคราวภรรยาล้มป่วย จำเป็นต้องหอบหิ้วข้ามน้ำมารักษากับหมอที่ฝั่งไทย โดยมาอาศัยอยู่กับลูกสาวซึ่งย้ายมามีครอบครัวอยู่ที่’บ้านหินช้าง’ ก่อนแล้ว และนั่นก็กลายเป็นการย้ายมาอยู่ฝั่งประเทศไทยอย่างถาวรของครอบครัว’บังโซ๊ะ ‘ แต่เป็นการย้ายกลับบ้านเกิดของฝ่ายภรรยา เพราะภรรยาบังโซ๊ะเป็นคนบ้านท่าฉาง จังหวัดระนองก่อนจะย้ายติดตามสามีไปเป็นคนไทยพลัดถิ่นอยู่บ้านสิบไมล์
เจ็ดปีก่อน ‘บังโซ๊ะ’ ในวัยชรามีอาการป่วยไข้ตามประสาคนสูงวัย จนต้องเข้าโรงพยาบาล ลูกๆสลับกันไปเฝ้า พอถึงเวลาบ่าย บังโซ๊ะจะไล่ให้ ‘ฮาลีฟ๊ะ’ ลูกสาวคนสุดท้องกลับไปบ้านทุกที และทุกช่วงบ่ายก็จะมีคนป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับเส้นเอ็น กระดูก มาหาที่บ้าน จึงกลายเป็นว่า ‘ฮาลีฟ๊ะ’ ต้องทำหน้าที่แทนพ่อทุกครั้งไป ‘ฮาลีฟ๊ะ’ เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 7 คน ‘บังโซ๊ะ’ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียนหนังสือ ทั้งที่โรงเรียนห่างจากบ้านไม่ถึง 400 เมตร พ่อแม่บ้านนอกคอกนาเมื่อก่อน จะมีทัศนะว่า ลูกผู้หญิงเมื่อโตไปมีครอบครัวก็ต้องทำหน้าที่แม่บ้านแม่เรือน หนังสือหนังหาไม่จำเป็นต้องเรียน ความที่เธอไม่ได้เรียนหนังสือ เที่ยววิ่งเล่นดินทรายชายหาดข้างบ้าน คอยช่วยงานบ้านของ’มะจิ๊'(แม่เลี้ยง) เธอจึงได้ซึมซับวิชาการรักษาจาก’บังโซ๊ะ’ สถานการณ์เช่นนี้แหละทำให้เธอก็เป็นทายาทที่รับช่วงต่อวิชาหมอกระดูกจากพ่อ “บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดประสบเหตุขาหัก ฝ่ายเมียก็หอบหิ้วมาใช้ช่วยรักษา เมื่อไม่มีใครอยู่บ้านก็ต้องหอบลูกๆมาด้วย มากินมานอนที่บ้านหมอ เรากินอะไรก็ทำเผื่อคนไข้และคนเฝ้าด้วย ไม่ต้องพูดเรื่องค่าราด ค่าครูเลย คือเรามีหน้าที่ช่วยคน เขาจะมีน้ำใจตอบแทนแค่ไหนเราไม่เรียกร้อง ” หมอฟ๊ะอธิบายเมื่อถูกถาถึงค่ารักษา “พ่อของลูกๆนี่แหละ อยู่กันมาสิบกว่าปี อดทนกันมาแต่พอไม่เข้าใจมากๆเข้าก็อยู่กันไม่ได้ รู้แหละว่าเขารัก เขาหึงหวง แต่พอการหึงหวงกลายเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่รักษาคนป่วย เราก็ต้องเลือก …เราเลือกรักษาวิชาที่ป๊ะถ่ายทอดให้ เลือกที่จะช่วยเหลือคนป่วย ก็ต้องเลิกกับสามี” ปัจจุบันเธออยู่กับวสามีใหม่ซึ่งเข้าใจวิถีของความเป็นหมอพื้นบ้าน ที่บ้านหลังเดิม ติดกับบ้านพ่อแม่ที่เธอเติบโตมา ผู้มาใช้บริการก็มาจากการบอกต่อ ปากต่อปาก ชื่อเสียวกิตติศัพท์ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ “วันที่สิบเจ็ดตอนเย็นเราค่อยมาดีกว่า เอาแบบนั้นนะฟ๊ะ” ญาติคนป่วยกระดูกข้อเท้าหัก เอ่ยกับเธอ เมื่อรู้ว่าคนเป็นหมอมีคิวนัดถ่ายบัตรประชาชนที่อำเภอในวันที่ 17 ฮาลีฟ๊ะเป็นคนไทยพลัดถิ่น ที่ผ่านการรับรองโดย’คณะกรรมการพิสํจน์รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น’ แล้วเมื่อหลายเดือนก่อน รอเพียงถ่ายบัตรประชาชนเท่านั้น ‘ฟ๊ะ’ก็จะมีสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ ….แต่วิชารักษาโรคเส้น โรคกระดูกไม่ต้องใช้สัญชาติ ใช้เพียงจิตวิญญาณความเป็นหมอเท่านั้น.