อุษาคเนย์

บทความโดย ฟองเวลา

ภาพโดย ฟองเวลา

ความจริงถ้าเอา’หมาก-พลู’มาวางไว้ ต่อหน้าผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียง ก็คงจะมีคำเรียกแตกต่างกันออกไป วัฒนธรรมการ’กินหมาก’เป็นของคนในภูมิภาคนี้มาแต่โบร่ำโบราณ คงรวมไปถึงภูมิภาครอบอ่าวเบงกอลด้วย การเคี้ยวหมากอาจลดลงในคนรุ่นใหม่ๆ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่เคยได้ยินว่า’การกินหมาก’มีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ต่างจากบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไป มาช่วงหลังคนสูบบุหรี่ถูกทำให้กลายเป็นอาชญากร ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ จำกัดพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าด้านหนึ่งก็ควรเป็นเช่นนั้น ถ้าการเสพควันนิโคตินส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง ส่งผลต่อสุขภาพผู้เสพซึ่งที่สุดแล้วก็ต้องพบกับโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอด และสังคมโดยรวมต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้ป่วยจากสาเหตุนี้ แต่ดูเหมือนมีพลังต่อรองจากธุรกิจเหล้า-บุหรี่สูงมาก จึงยังมีพื้นที่’โซนเสพ’ให้ผู้นิยมควัน และนักดื่มอย่างเป็นการเฉพาะ ไม่มีข้อมูลเชิงสถิติมาอ้างอิงหรอก(เหนื่อยที่จะหา) แต่ในปัจจุบันเข้าใจว่า ผู้คนตั้งแต่เด็กเล็กไปถึงวัยชรา มีปัญหาด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มปรุงรส และขนมขบเคี้ยวต่างๆ ในโรงพยาบาลจึงหนาแน่นไปด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ ส่วนคนกินหมาก นอกจากจะไม่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังถูกรังเกียจเดียดฉันท์ไสส่ง ทางออกของคนไร้อำนาจต่อรอง คือ ‘เลี่ยงบาลี’ ลบข้อความ’ห้าม’ทิ้งไป ส่วนคนเมียนมาร์ คงไม่กล้ากระทำการเยี่ยงนั้นในเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น!!(ฮาๆ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *