ประเพณีนอนหาดชาวมอแกลนหินลูกเดียว

  • ทุกวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ตามปฏิทินจันทรคคิ ชาวมอแกน และชาวมอแกลน ตลอดไปถึงชาวอูรักลาโว้ยบางส่วน จะมารวมตัวกันที่บริเวณหาดทรายแก้วที่เชื่อมติดกับหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพือร่วมกันประกอบพิธีกรรม “นอนหาด” หรือ “ดิลอิดูลอาวะดะ”  ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างช้านาน
  • ชาวมอแกลนที่อยู่ใกล้พื้นที่ประกอบพิธีกรรมอย่างบ้านแหลมหลา และ บ้านหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาจัดแจงพื้นที่ประกอบพิธีกรรม ซึ่งผู้นำประกอบพิธีกรรมหรือโต๊ะหมอก็อยู่ในชุมชนนี้ด้วยเช่นกัน
  • ตลอดเวลา 3 วัน 3 คืน กลุ่มชาติพันธู์ชาวเลมอแกลน จะทำกิจกรรมร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหุงหาอาหาร ทำเพิงพักริมหาด รวมไปถึงการประกอบพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษที่หลาโต๊ะ(ศาลโต๊ะหินลูกเดียว) โดยคืนวันแรกนั้นจะเป็นการเข้ามาทำความสะอาดหน้าหาดและจับจองพืันที่นอนหาด ชาวมอแกลนที่เคยมานอนหาดในปีก่อน  ๆ มักจะจับจองที่เดิมอยู่เสมอ ๆ
  • นอกจากจะมานอนหาดเพื่อสืบสานประเพณีแล้ว ชาวเลบางคน หรือ คนที่ไม่ใช่ชาวเล ก็จะมานอนหาดด้วย นั่นก็เพราะการได้กล่าวบนบานกับโต๊ะหินลูกเดียวไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มักบนบานในเรื่องสุขภาพมากกว่าเรื่องโชคลาภ ชาวเลบางคนเล่าให้ฟังว่า ป่วยมาหลายปีไปรักษาหลายแห่งไม่หาย พอได้มาบนศาลโต๊ะหินลูกเดียว ปรากฎว่าอาการดีขึ้นจึงมาร่วมพิธีนอนหาดถึง 3 วัน 3 คืน เพื่อมาแก้บน
  • ผู้เฒ่าชาวมอแกลนหลายคนยังบอกด้วยว่าเมื่อก่อนจะมีการละเล่นมากมาย อาทิเช่น มอญซ่อนผ้า วิ่งเปรี้ยว ชักคะเย้อ ตีรำมะนา ร้องรำเพลงบอก ขับเพลงตันหยง เป็นต้น แต่มาภายหลังมีแต่แข่งฟุตบอลและมีการขายเหล้าเบียทำให้กิจกรรมรูปแบบเดิมเริ่มหายไป
  • ในคืนสุดท้าย คือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (ตรงกับวันมาฆบูชา) โต๊ะหมอจะทำพิธีบูชาวิญญาณบรรพบุรุษที่ศาลโต๊ะหินลูกเดียว โดยจะเริ่มพิธีช่วงหัวค่ำ โต๊ะหมอผู้ประกอบพิธีจะเริ่มตั้งแต่ การนำอาหารมาสักการะ การดูเปลวเทียนเสี่ยงทาย ตลอดถึงการเข้าทรงเพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ และท้ายที่สุดของพิธีนอนหาดคือก่อนรุ่งเช้าอีกวัน โต๊ะหมอจะทำพิธีพุ่งไม้ “ซีฮุ้ย” ลงทะเลตรงข้ามศาลโต๊ะหินลูกเดียว เพื่อขจัดสิ่งไม่ดีให้ออกไปและเป็นการทำนายจากไม้ซีฮุ้ยนั้นด้วยว่าไหลไปทางไหน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอแกลนจะเป็นอยู่อย่างไรในปีนี้
  • โดยตลอดระยะเวลา 3 วัน 3 คืนของการนอนหาด จะมีญาติพี่น้องชาวเล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวมอแกน มอแกลน และ อูรักลาโว้ย จากจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ สตูล และภูเก็ต ทยอยกันมาร่วมงานกันอย่างไม่ขาดสายไม่ว่าจะมาเพียงเยี่ยมเยือนหรือมานอนหาดด้วย จนกระทั่งมาร่วมพิธีกรรมด้วยก็มี เสมือนเป็นงานรวมญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอันดามันอีกงานหนึ่งก็มิปาน 

    [บทความโดย ชาญวิทย์ สายวัน]
    [ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj]
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj
ขอบคุณภาพจาก Bam Penroaj