ด้านเหนือสุดที่พบชุมชนมอแกลนคือที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และที่นี่ยังเป็นเกาะแห่งเดียวที่มีชาวมอแกลนอาศัยอยู่ ชาวมอแกนและชาวอูรักลาโว้ยมักจะตั้งชุมชนอยู่บริเวณเกาะต่าง ๆ ในขณะที่ชาวมอแกลนมักจะตั้งชุมชนอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลหรือด้านในแผ่นดิน เกาะพระทองเป็นสถานที่ ที่ชาวมอแกนและมอแกลนเดินทางมาพักพิง อยู่อาศัย ทำมาหากิน และหลบซ่อนจากภัยต่าง ๆ มาก่อนที่จะมี ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวร และเป็นจุดหยุดพักที่สำคัญของชาวมอแกนก่อนจะเดินทางไปยังหมู่เกาะ สิมิลันและเกาะภูเก็ต
บริเวณทิศใต้และตะวันออกของเกาะเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ มีเครือข่ายคลองอยู่มากมายที่ชาวมอแกลนเข้ามาใช้ประโยชน์เก็บหาสัตว์ทะเลและประมงพื้นบ้าน และในบางพื้นที่มีการทำไร่หมุนเวียน บริเวณข้างเคียง คือเกาะคอเขาก็เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ ซึ่งมีการพบเงินเหรียญอินเดียและร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของ ผู้ที่เข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนจากแดนไกล การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของชาวมอแกลนอาจจะพาเรา เกี่ยวโยงไปถึงเส้นทางการค้า เส้นทางลำเลียงสินค้าและข้าวของมาทางบกเพื่อข้ามฝั่งคาบสมุทร และการเกณฑ์ หรือบังคับแรงงานในการสร้างบ้านแปงเมืองบริเวณภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน
ส่วนด้านใต้สุดที่พบชุมชนมอแกลนคือบ้านเหนือหรือบ้านหินลูกเดียว จังหวัดภูเก็ต ซึ่งก็เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่กันมานานเช่นเดียวกัน ชาวมอแกลนมีวิถีอนุรักษ์ที่ทำให้ป่าชายเลนยังอยู่อุดมสมบูรณ์และเป็น แหล่งอาหารสำคัญของชาวมอแกลนมานับร้อยปี
[ที่มา : หนังสือทักษะวัฒนธรรมชาวเลฯ]