ชาวเลในเมืองไทยมี3 กลุ่ม คือมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ชาวเลทั้งสามกลุ่มมีรายละเอียด
ของภาษา พิธีกรรมและเรือแบบดั้งเดิมที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังพบว่า ชาวเลแต่ละกลุ่มมีชื่อเฉพาะที่
ใช้เรียกชาวเลกลุ่มอื่น ยกตัวอย่างเช่น ชาวมอแกนเรียกตนเองว่า มอแกน ในขณะที่เรียกชาวมอแกลนว่า
ออลัง ตามับ คำว่า “ออลัง” แปลว่า คน ส่วน “ตามับ” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเรียกสถานที่หรือคำบรรยายลักษณะ
ภูมิประเทศ
ในขณะเดียวกัน ชาวมอแกนเรียกชาวอูรักลาโว้ยว่า ออลัง ลอนตา ซึ่งคำว่า ลอนตา สันนิษฐานว่า
มาจากคำว่า “ลันตา” ซึ่งเป็นเกาะที่มีชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่เป็นชุมชนใหญ่ คำเรียกชื่อชาวเลกลุ่มอื่นๆ
ที่แตกต่างไปจากกลุ่มของตนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทั้งการติดต่อสัมพันธ์และความเข้าใจคนกลุ่มต่างๆ
ชาวมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ยเรียกคนไทยว่า แชม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวเลทั้งสามกลุ่ม
มีความคุ้นเคยและติดต่อพบปะกับคนเชื้อสายไทยที่อยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่ยังเรียกดินแดนและผู้คนบริเวณนี้ว่า
“เสียม” หรือ “สยาม”
ชาวเลทั้งสามกลุ่ม คือ อูรักลาโว้ย มอแกลน และมอแกน แม้ว่าจะมีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน
แต่หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ก็จะพบความแตกต่างที่ทำให้คนภายนอกสังเกตได้หลายประการ อาทิ
ภาษา แม้จะจัดอยู่ในตระกูลออสโตรนีเชียนเช่นเดียวกัน แต่กลุ่มอูรักลาโว้ยมีภาษาที่แตกต่างกับกลุ่มอื่น
ค่อนข้างมาก ในขณะที่ภาษาของมอแกนและมอแกลนมีส่วนคล้ายคลึงกัน มีคำศัพท์ที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่
และสามารถสื่อสารกันพอรู้เรื่อง
รูปแบบเรือดั้งเดิมของมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ยก็แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีลักษณะเป็นเรือไม้
มีแจว และมีใบเรือเหมือนกัน แต่ในความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่แล้ว กลุ่มมอแกนเป็นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
ที่ใช้เรือง่าม หรือเรือไม้ระกำที่มีรอยหยักเว้าที่หัวเรือและท้ายเรือ ส่วนเรือดั้งเดิมของชาวอูรักลาโว้ยเป็นเรือ
ต่อด้วยไม้กระดาน ใช้แจวและใบเรือ และเรือมอแกลนนั้นเป็นเรือขุดเสริมกราบด้วยไม้กระดาน ใช้แจว
และบางครั้งติดใบเรือด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบัน ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยและมอแกลนตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร หันมาประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง
รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่นๆ ซึมซับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น บ้างก็รับคำเรียกขานกลุ่มตนเองว่า ไทยใหม่
ส่วนกลุ่มมอแกนค่อนข้างรักษาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมไว้ได้มากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงเพราะรับ
อิทธิพลจากภายนอกเช่นกัน
พิธีกรรมสำคัญของชาวเลทั้งสามกลุ ่มก็มีความแตกต ่างกัน ชาวมอแกนเน้นที่การฉลองวิญญาณ
ในธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ มีสัญลักษณ์เป็นเสาแกะสลักเรียกว่า เสาหล่อโบง และบางครั้งก็มีเรือ
ลอยเคราะห์ที่เรียกว่า ก่าบางชวาย ส่วนชาวมอแกลนเน้นการบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณบรรพบุรุษ
โดยมีสัญลักษณ์เป็นศาลขนาดย่อม ที่ทางใต้เรียกว่า หลาทวด รายละเอียดของพิธีกรรมของมอแกลนแตกต่าง
กันไปบ้างในแต ่ละชุมชน พิธีกรรมของอูรักลาโว้ยนั้นเป็นที่รู้จักกันมากกว ่าของชาวเลกลุ ่มอื่นๆ กล ่าวคือ
เป็นพิธีลอยเรือ ปือลาจั้ก ที่ชาวบ้านจะนำเอาข้าวกับข้าว หมากพลูรูปสลักซึ่งเป็นตัวแทนของคนในครอบครัว
ข้าวตอก และมีการตัดเล็บตัดผมใส่ไปในเรือเพื่อเป็นการลอยเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชน
ถึงแม้ว่ารายละเอียดพิธีกรรมของชาวเลทั้งสามกลุ่มจะแตกต่างกัน แต่ทว่าพิธีกรรมสำคัญส่วนใหญ่
มักจัดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน 4-6 และเดือน 11-12 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า วิถีชีวิตของชาวเลทั้งสามกลุ่มขึ้นอยู่กับจังหวะฤดูกาล
ของลมมรสุมเป็นอย่างมาก
ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล