ในสมัยก่อน นอกจากชาวอูรักลาโว้ยจะทำมาหากินในทะเลเป็นหลักแล้ว ยังมีการเก็บพืชผักจากป่า
มาบริโภค และบางพื้นที่ยังปลูกข้าวไร่โดยอาศัยน้ำฝน จึงปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้น บางคนปลูกพืชผักสวนครัวไว้
ไม่ไกลจากไร่ข้าว เช่น พริก มะเขือ หรือปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะพร้าว มะม่วงไว้ด้วย ชาวอูรักลาโว้ยที่อาศัยอยู่
บนเกาะภูเก็ตจำได้ว่าเคยทำข้าวไร่และบ้างก็ทำสวนบนพื้นที่ราบและเชิงเขาแถบเกาะบอน เกาะเฮ
เกาะราชา เกาะไม้ท่อน แหลมกาแหลมพรหมเทพ และเกาะสิเหร่ โดยทำบนพื้นที่ขนาดพอกิน จนกระทั่งต่อมา
เริ่มมีชาวบ้านบางส่วนพักอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างถาวรและขยายจนเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นเพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์มาก
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้อาวุโสชาวอูรักลาโว้ยหลายคนจำได้ว่าข้าวที่ปลูกไว้ก็ทำต่อไม่ได้ต้อง
ปล่อยให้ยืนต้นตายไป ผู้คนก็แยกย้ายกระจัดกระจายหนีภัยสงคราม เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ชาวอูรักลาโว้ย
ก็กลับมาทำข้าวไร่กันใหม่ ในอดีต ชุมชนอูรักลาโว้ยมีครกตำข้าวและกระด้งฝัดข้าวที่มีลักษณะเป็นภาชนะ
สานเป็นวงกลมมีขอบปากทำด้วยไม้ไผ่ ปัจจุบันเรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกข้าวกลายเป็นตำนานที่เล่าขาน
ให้ลูกหลานฟังเพราะแทบจะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมข้าวเหลืออยู่เลย
[ที่มา : ทักษะวัฒนธรรมชาวเล/อ.นฤมล อรุโณทัย/ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร]